กทม. 8 พ.ค. – ครบ 1 สัปดาห์ กรมควบคุมโรค สาธารณสุขเปิดบริการสายด่วน 1422 เพิ่ม 3 ภาษาเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว และเมียนมา เพื่อแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในไทย ใช้สื่อสารโรคโควิด-19 ได้รับผลตอบรับดี แรงงานส่วนใหญ่โทรมาสอบถามเพราะกังวลกลัวติดเชื้อ
นี่เป็นการให้คำแนะนำของเจ้าหน้าที่สายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แบบภาษาลาว ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ภาษาที่เพิ่งถูกเพิ่มเข้ามา เพื่อใช้เป็นช่องทางสื่อสารกับแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในไทยโดยเฉพาะ
การเพิ่ม 3 ภาษา คือ กัมพูชา ลาว และเมียนมา เริ่มมาได้ 1 สัปดาห์แล้ว เมื่อมีผู้ใช้บริการเป็นแรงงานข้ามชาติโทรเข้ามาผ่านสายด่วน 1422 กรมควบคุมโรคสามารถกดหมายเลข เพื่อเข้าสู่ระบบภาษาเพื่อนบ้านที่ตั้งค่าไว้แล้วได้ทันที ภาษากัมพูชา กด 81 ภาษาลาว กด 82 และภาษาเมียนมา กด 83 โดยตลอด 24 ชั่วโมง จะมีเจ้าหน้าที่จิตอาสาซึ่งเป็นบุคลากรทางสาธารณสุขที่เชี่ยวชาญใน 3 ภาษานี้ และผ่านการอบรมจากกรมควบคุมโรคทั้งหมด 40 คน คอยสลับเปลี่ยนหมุนเวียนให้บริการอยู่ที่บ้าน
เจ้าหน้าที่คนนี้ทำหน้าที่ให้บริการภาษาลาว เล่าว่า แต่ละวันมีแรงงานชาวลาวโทรมาเฉลี่ย 10 สาย ส่วนใหญ่จะขอคำปรึกษาเรื่องอาการของโรคโควิด-19 เพราะกังวลว่าจะติดเชื้อ
ตลอด 1 สัปดาห์ที่เพิ่ม 3 ภาษาเพื่อนบ้าน เพื่อแรงงานข้ามชาติ ในสายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค มีการเก็บข้อมูลเรื่องที่ถูกโทรเข้ามาสอบถามมาที่สุด คือ สถานการณ์โรค ข้อมูลการข้ามแดน การตรวจรักษาโรค และการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกัน
หัวหน้ากลุ่มภารกิจสื่อสารความเสี่ยงในการฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า การเพิ่ม 3 ภาษา เช่น กัมพูชา ลาว และเมียนมา นอกจากจะเป็นการเปิดช่องทางให้แรงงานข้ามชาติที่ยังอยู่ในไทยใช้สื่อสารเรื่องโรคโควิด-19 แล้ว นี่ยังถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะเป็นกลุ่มคนที่อยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก
ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน พบว่า ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติมาทำงานในไทยประมาณ 2.8 ล้านคน ส่วนใหญ่มักเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายคนกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การเพิ่มโอกาสให้คนกลุ่มนี้ได้สื่อสารและรับข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงการดูแลรักษาพยาบาล โดยมีสายด่วน 1422 เป็นตัวกลางรับข้อมูล ประสานบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ให้เข้าถึงตัวแรงงานข้ามชาติ ในกรณีที่ติดเชื้อหรือเข้าข่ายเฝ้าระวังเพื่อสกัดกั้นโรคให้เร็วที่สุด. – สำนักข่าวไทย