ภูเก็ต 6 พ.ค.- โควิด-19 ภูเก็ต ไม่พบติดเชื้อรายใหม่เป็นวันที่ 4 ขณะที่ชายออสเตรเลียป่วยเสียชีวิตแล้ว และยังมีโรคประจำตัวหลายโรค พร้อมเร่งเก็บข้อมูลหาทางฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ หลังสถานการณ์ของโรคดีขึ้น
วันนี้ (6 พ.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นพ.ธเนศ เสริมแก้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และ นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธนผล ผู้อำนวยโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ร่วมแถลงสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.-5 พ.ค.2563 ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มา 4 วันติดต่อกัน ยอดป่วยสะสม 220 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 180 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมเป็น 3 ราย รอผลตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ 57 ราย
นายภัคพงศ์ กล่าวว่า บริบทของ จ.ภูเก็ต มีความแตกต่างกับจังหวัดอื่น เนื่องจากภูเก็ต นอกจากประชาชนตามสำเนาทะเบียนบ้านประมาณ 416,000 คน ยังมีประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานในพื้นที่จำนวนมาก และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาพำนักอยู่ในจังหวัด เพราะฉะนั้นตัวเลขข้อมูลผู้ติดเชื้อที่รายงานอยู่ทุกวันว่าภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ เมื่อเทียบกับจำนวนแฝงประชากร น่าจะไม่เป็นธรรมกับภูเก็ตนัก
“ผมขอยกตัวอย่าง จำนวนผู้ติดเชื้อที่ จ.ภูเก็ต ขณะนี้มีจำนวน 220 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวภูเก็ต 85 คน เป็นผู้ติดเชื้อที่มีทะเบียนบ้านนอก จ.ภูเก็ต 95 คน และเป็นผู้ที่ติดเชื้อชาวต่างชาติ 42 คน 18 สัญชาติ”
นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายที่ 3 เป็นชาย อายุ 69 ปี สัญชาติออสเตรเลีย เป็นผู้จัดการโรงแรมแห่งหนึ่งในพื้นที่เขาหลัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา มีโรคประจำตัวหลายโรค ประกอบด้วย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน มีภรรยาเป็นคนไทย มีบุตรด้วยกัน 2 คน และหลาน 1 คน อาศัยอยู่บ้านเดียวกันในพื้นที่ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต
ประวัติเสี่ยงก่อนเจ็บป่วย ได้ไปสัมผัสพูดคุยกับลูกค้าชาวต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเยอรมัน ออสเตรเลีย รัสเซีย โดยก่อนตรวจพบว่าป่วยติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยได้เข้ารักษาที่คลินิกแห่งหนึ่งในภูเก็ต ด้วยมีอาการไข้ หอบเหนื่อย เมื่อวันที่ 21,24 และ 27 มี.ค.63 กระทั่งวันที่ 27 มี.ค. มีอาการหอบมากขึ้น และมีไข้สูง แพทย์ประจำตัวจึงส่งตัวผู้ป่วยรายนี้เข้ารักษาต่อที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตวันที่ 28 มี.ค. เนื่องจากสงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 จากนั้นโรงพยาบาลได้เข้าตรวจคัดกรองที่คลินิกระบบทางเดินหายใจ พบว่าหัวใจมีภาวะหยุดเต้นจึงให้ออกซิเจน และจากผลเอกซเรย์พบปอดติดเชื้อทั้ง 2 ข้าง พร้อมนำสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกไปตรวจหาเชื้อ ปรากฏว่าผลเป็นบวก
ต่อมาวันที่ 29 มี.ค.ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยมากขึ้น แพทย์จึงตัดสินใจใส่ท่อช่วยหายใจทันที และเริ่มให้ยาต้านไวรัสและยาแบคทีเรีย วันที่ 1 เม.ย. พบว่าอาการติดเชื้อที่ปอดมีภาวะแทรกซ้อนปอดอักเสบ 7 เม.ย.ไข้เริ่มสูงขึ้น ติดเชื้อในกระแสเลือด แพทย์ได้วินิจฉัยการติดเชื้อพบปอดเริ่มแฟบทั้ง 2 ข้าง ไข้สูงตลอด ค่าไตเริ่มสูงขึ้น ไตเสื่อม
วันที่ 21 เม.ย. ปอดเริ่มติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น
วันที่ 22-30 เม.ย.ผู้ป่วยไตล้มเหลว ความดันต่ำลงเรื่อยๆ ตามลำดับ วิกฤติทรุดลงตามลำดับ กระทั่งวันที่ 5 พ.ค. เวลา 17.35 น.ผู้ป่วยเสียชีวิต รวมระยะเวลาการรักษา 38 วัน
สรุปสาเหตุของการเสียชีวิต คือมีภาวะปอดติดเชื้อ และล้มเหลวจากไวรัสโควิด-19 โดยมีภาวะแทรกซ้อนคือปอดติดเชื้อแบคทีเรีย ไตวาย และติดเชื้อในกระแสเลือด ส่วนโรคร่วม คือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน
นายภัคพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงาน ซึ่งเป็นทีมวิจัยบมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตภูเก็ต เป็นเจ้าภาพในการรวบรวมปัญหาของประชาชนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงประชาชนที่ประสบปัญหาเรื่องของการมีงานทำ ในส่วนนี้ทางจังหวัดมีการประชุมพิจารณากันเกือบทุกวัน เนื่องจากช่วงนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ของโรคได้ ส่วนการเยียวยาจะเป็นลำดับต่อไปที่จะต้องดำเนินการ ช่วงนี้จะเป็นการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงในแง่ความเสียหายที่เกิดขึ้น
ผู้ว่าฯ ภูเก็ต กล่าวว่า ส่วนการผ่อนคลายมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมีมติที่จะให้มีการก่อสร้างในพื้นที่และอนุญาตให้รถบรรทุกวัสดุก่อสร้างและรถบรรทุกแรงงานก่อสร้างผ่านด่านท่าฉัตรไชยได้ เพื่อให้ธุรกิจก่อสร้างสามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งจะส่งผลดีทั้งในส่วนของเศรษฐกิจจังหวัด แรงงานมีงานทำ มีรายได้ ลดปัญหาความเดือดร้อน ทั้งหมดนี้ได้หารือไปยังส่วนกลางแล้ว.-สำนักข่าวไทย