กรุงเทพฯ 5 พ.ค. – สภาผู้ส่งออกฯ ฟันธงส่งออกปีนี้อาจหดตัว 8% สอดคล้องกับเอ็กซิมแบงก์คาดส่งออกปีนี้หดตัว 5-8% พร้อมวิงวอน ธปท.ดูแลเงินบาทอ่อนค่าได้ที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์
นางสาวกัณญภัค ตัณติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออกฯ) กล่าวในการแถลงสถานการณ์ส่งออกเดือนมีนาคม ประจำเดือน เมษายน 2563 ว่า การส่งออกเดือนมีนาคม 2563 มีมูลค่า 22,405 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.17% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนภาพรวมการส่งออกไตรมาสแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) การส่งออกขยายตัว 0.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะเห็นได้ว่า การส่งออกปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สภาผู้ส่งออกฯ ยังคงคาดการณ์การส่งออกภาพรวมปี 2563 อาจหดตัว 8% บนสมมติฐานค่าเงินบาทปี 2563 อยู่ที่ 30.5 (± 0.5) บาทต่อดอลลาร์ สอดคล้องกับทิศทางการประเมินของนายสิทธิกร ดิเรกสุนทร์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์) ที่ประเมินว่าการส่งออกมีโอกาสที่จะเป็นติดลบ 5-8%
สำหรับสาเหตุการส่งออกปี 2563 อาจหดตัว 8% เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบเศรษฐกิจไตรมาสแรกของประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐ จีน และสหภาพยุโรป (อียู) ติดลบค่อนข้างมาก ซึ่งแต่ละประเทศมีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 12.5% ของการส่งออกภาพรวม แม้เดือนนี้ประเทศจีนจะกลับมาเปิดปกติ แต่มีการควบคุมค่อนข้างเข้มงวด ขณะที่อียูและสหรัฐตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นสูง ฉุดการส่งออกของไทยในช่วง 9 เดือนที่เหลือปีนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากไทยสามารถเปิดการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านได้ สถานการณ์การส่งออกจะกลับมาดีขึ้นได้บ้าง ส่วนสงครามการค้าระลอก 2 มองว่ามีโอกาสที่จะเกิดขึ้น เพราะสหรัฐจะมีการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนปีนี้ หรืออีก 6 เดือนข้างหน้า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันต้องการที่จะกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง จึงต้องดำเนินการที่มองได้ว่าเป็นการรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐ ขณะที่วันนี้ประเทศจีนฟื้นตัวเร็วกว่าสหรัฐจะต้องหาทางลดการขาดดุลการค้า
นางสาวกัณญภัค กล่าวว่า สภาผู้ส่งออกฯ ต้องการเห็นเงินบาทอยู่ในระดับ 34 บาท ขณะนี้กังวลความผันผวนการแข็งค่าของเงินบาท จากที่ผ่านมาดีใจที่เงินบาทเคลื่อนไหว 33 บาทต่อดอลลาร์ แต่สัปดาห์นี้เงินบาทเคลื่อนไหว 32 บาทต่อดอลลาร์ จึงขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยดูให้เงินบาทอยู่ในระดับที่ผู้ส่งออกสามารถส่งออกสินค้าได้สะดวกขึ้น ด้านราคาน้ำมันลดลงช่วยลดต้นทุนภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันไม่เกิดประโยชน์สินค้าบางรายการอิงราคาตามภาวะน้ำมันโลก แต่เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เป็นปัจจัยจากต่างประเทศที่ส่งผลกระทบความไม่แน่นอนต่อการส่งออกได้
สภาผู้ส่งออกฯ มองว่าการส่งออกของไทยในช่วง 9 เดือนที่เหลือปีนี้ระดับการฟื้นตัวของการส่งออกแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มฟื้นตัวรวดเร็วหรือลักษณะทรุดตัวลงเร็วและฟื้นตัวรวดเร็วแบบกราฟตัว “V” ฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 เพราะยังมีความต้องการสินค้าต้องการ ขณะที่สินค้าบางรายการฟื้นตัวช้าเป็นกลุ่มลักษณะรูปกราฟ ตัว “U” จะฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ถึงปีหน้า ท่ามกลางการผลิตในไทยต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ขณะที่บางกลุ่มตัวฟื้นตัวช้า ลักษณะกราฟแบบตัว ” L” การฟื้นตัวจะเกิดขึ้นต้องข้ามไปในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า จึงต้องการเห็นมาตรการจากภาครัฐเข้ามาดูแลช่วยภาคอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมส่งออก และควรทำต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้สหรัฐ อียู อังกฤษและญี่ปุ่นมีการหารือกันให้เศรษฐกิจธุรกิจอยู่ได้ผ่านการเยียวยา
สำหรับข้อเสนอแนะ EXIT Strategies: Post COVID-19 ของสภาผู้ส่งออกฯ ประกอบด้วย ด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ เช่น มาตรการฟื้นฟูด้านการเงินผ่านเงินกู้เพื่อเอสเอ็มอีและผู้ส่งออกขนาดกลางและขนาดใหญ่ พร้อมทั้งรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ระหว่าง 32.50-34.00 บาทต่อดอลลาร์ ,มุ่งยกระดับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นครัวโลก (Kitchen of the world) เป็นต้น ช่วยปรับปรุงแก้ไขช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เช่น ด้านโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทั้งการขนส่งทางเรือ การขนส่งสินค้าทางอากาศ การขนส่งสินค้าทางถนน การขนส่งสินค้าทางราง
สถานการณ์การส่งออกเดือนมีนาคม 2563 มีมูลค่า 22,405 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.17% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 693,353 ล้านบาท ขยายตัว 4.21% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าเดือนมีนาคม 2563 มีมูลค่า 20,813 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 7.25% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาท มีมูลค่า 653,096 ล้านบาท ขยายตัว 7.32% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เดือนมีนาคม 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 1,592 ล้านดอลลาร์ และ 40,257 ล้านบาทเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนมีนาคม 2563 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 2.12
ขณะที่ภาพรวมการส่งออกช่วงไตรมาสแรกปี 2563 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 62,672 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 0.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 1,903,157 ล้านบาท หดตัว 2.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงเดือนม.ค.- มี.ค. 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 3,934 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 94,466 ล้านบาทเมื่อหักทองคำและน้ำมันน้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนมกราคม – มีนาคม การส่งออกขยายตัว 1.06% .-สำนักข่าวไทย