กรุงเทพฯ 4
พ.ค.-ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกระทบหนักจาก COVID-19
ผู้ผลิตน้ำมันดิบ 6 รายอาจไปไม่รอด ด้านกรมเชื้อเพลิงฯ
ประเมินผลกระทบ ชี้รายได้รัฐร่วง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงประมาณ40ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจาก
ปลายปีที่แล้ว ที่ราคาน้ำมันดิยดูไบเฉลี่ย62ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส4/2562และ
โดยขณะนี้ อยู่ที่ราว 20ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
ซึ่งเป็นผลกระทบทั้งจากโควิด-19
และความขัดแย้งของกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการของไทยทั้งเจ้าของกิจการและผู้รับเหมาช่วงในกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
โดยเฉพาะผู้ผลิตน้ำมันขาดทุนกระทบหนักและหยุดผลิต
บางรายพิจารณาถึงขั้นจะถอนตัวจากไทย รวมทั้งเลิกจ้างคนงานเป็นจำนวนมาก
แหล่งข่าววงการปิโตรเลียม เปิดเผยว่า โควิด-19
ทำให้การใช้น้ำมันทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชากรทั่วโลก
โดยความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกคาดการณ์ว่าจะปรับลดลงกว่าร้อยละ 30
ในเดือน เม.ย. 2563 คาดกันว่ามีปริมาณลดลง15-35 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดืยนเมษายนและเดือนพฤษภาคม
2563 ส่งผลให้ราคาน้ำมันต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี
กระทบต่อผู้ประกอบการทั่วโลก
โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันในประเทศไทยที่มีประมาณ 16
ราย ได้รับผลกระทบหนักราคาขายต่ำกว่าต้นทุน ซึ่งในจำนวนนี้มีอยู่ที่ 6
ราย ที่ไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ และอาจต้องหยุดการผลิตลง
“ตอนนี้ งานสำรวจ และการวัดค่าความไหวสะเทือน (Seismic
Survey) หยุดทั้งหมด
จากเดิมบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะสำรวจได้รับผลกระทบจากการที่ไทย
ไม่ได้มีการเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่มาแล้ว 13 ปี
และล่าสุด โควิด-19 ทำให้ราคาน้ำมันดำดิ่ง
ผูู้ผลิตก็ไม่มีการสำรวจขุดเจาะเพื่อรักษาระดับการผลิตผู้รับเหมาช่วงก็ได้รับผลกระทบหนัก
ผู้รับสัมปทานเองก็เดือดร้อน ทุกรายส่วนลดต้นทุนลดกำลังผลิตลง
อีกทั้งมีบางรายอาจพิจารณาถอนการลงทุนออกจากประเทศไทยด้วย” แหล่งข่าว
กล่าว
ทั้งนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รายงานว่าปี 2562
อุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ สร้างรายได้เข้ารัฐ 1.6 แสนล้านบาท
ถือเป็นกรมฯ ที่มีการจัดหารายได้มากเป็นอันดับที่ 4
ของประเทศ จาก 3
อันดับแรกเป็นหน่วยงานใต้สังกัดของกระทรวงการคลัง คือ กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร
และกรมศุลกากร มีสัมปทานปิโตรเลียม
ในประเทศที่ดำเนินการอยู่ 38 สัมปทาน 48
แปลงสำรวจ แบ่งเป็นแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย 29
แปลง และแปลงสำรวจบนบก 19 แปลง
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์
อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กรมฯ
อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศปีนี้
โดยเบื้องต้น ยอมรับว่า ในส่วนของค่าภาคหลวง จะได้รับผลกระทบจากระดับราคาน้ำมันและราคาก๊าซฯที่ลดลง
แม้ว่าในแง่ของปริมาณการผลิตจะไม่ได้ลดลง ซึ่งจะมีผลต่อรายได้เข้ารัฐในปี2563จากที่ปีที้แล้วสร้างรายได้แก่รัฐ1.6แสนล้านบาทโดยกรมฯ
กำลังจัดทำสมมติฐานต่างๆ เพื่อประเมินผลกระทบในแต่ละกรณีจากโควิด-19
ว่าจะมีระยะเวลาสั้น หรือยาวนานระดับใด และกรณีเลวร้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร
ดูผลกระทบในแต่ละผลิตภัณฑ์ และประเทศไทยควรดำเนินการอย่างไร
ส่วนการประกาศเลื่อนแผนการเปิดยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่
23ที่เลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดจากเดิมจะเปิดในเดือน
มี.ค.เรื่องนี้ ยังต้องรอจนกว่าโควิด-19
จะคลี่คลาย ก็ยังคาดหวังว่า
จะสามารถประกาศเปิดประมูลฯรอบใหม่ได้ภายในปีนี้. -สำนักข่าวไทย