กทม. 1 พ.ค. – ครบ 1 เดือน หลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้น ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อ 1 เมษายน มากกว่า 1,300 คน ตอนนี้เหลือไม่ถึง 200 คน ผู้คนเริ่มชินกับการวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal หลายธุรกิจที่ถูกสั่งปิดชั่วคราวกำลังจะกลับมาเปิดอีกครั้งตามมาตรการผ่อนปรน แต่ก็มีเสียงสะท้อนว่าบางกิจการยังไม่ชัดเจน ทำให้ไม่รู้ว่าจะเปิดได้หรือไม่
หลายมาตรการที่นำมาใช้หวังลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลชัด ผ่านไป 1 เดือน ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้น แต่อัตราการแพร่ระบาดลดลง ผ่านไป 1 เดือน ตัวเลขผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านได้ขยับเข้าใกล้ตัวเลขผู้ป่วยสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายความว่าเหลือผู้ป่วยน้อยลงทุกที และ 1 เดือน จากที่มีผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 1,300 คน เหลือไม่ถึง 200 คนเป็นครั้งแรก แม้ว่ากรุงเทพมหานครยังคงเป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด แต่ทุกอย่างแนวโน้มดีขึ้น
กรุงเทพวันนี้แตกต่างจากเมื่อ 1 เดือนก่อน ผู้คนเริ่มออกจากบ้านมากขึ้น รถราวิ่งบนถนนมากขึ้น เริ่มมีบรรยากาศของความหวัง เมื่อหลายธุรกิจร้านค้าที่ปิดตายมานานนับเดือนเตรียมกลับมาเปิดร้าน หลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ประกาศมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรม 6 ประเภท ทั้งตลาด ร้านอาหาร กิจการค้าปลีกค้าส่ง กีฬาสันทนาการ ร้านตัดผมเสริมสวย และอื่นๆ ที่จะให้เปิดบริการได้ 3 พฤษภาคมนี้
อย่างร้านตัดผมเสริมสวย นอกจากใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย อธิบดีกรมอนามัยยังแนะนำให้สวมเฟซชิลด์ และเสื้อกาวน์เพิ่มเติม ทำความสะอาดอุปกรณ์ ทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุก 2 ชั่วโมง และที่สำคัญต้องมีระยะห่าง หรือ Social Distancing ในการให้บริการ
มีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการว่าการกำหนดระยะห่าง อาจกลายเป็นข้อจำกัดสำหรับร้านตัดผมเสริมสวยขนาดเล็ก จึงอยากให้ผ่อนปรนอีก ทั่วประเทศมีร้านเสริมสวยที่เป็นสมาชิกสมาคมกว่า 100,000 ร้าน
โต๊ะเก้าอี้ที่ถูกยกเก็บ หลังร้านอาหารปรับเปลี่ยนมาขายแบบสั่งกลับบ้านเท่านั้น บางร้านเริ่มยกออกมาทำความสะอาดแล้ว หลัง กทม. ออกมาตรการให้ร้านอาหารนอกห้างเปิดจำหน่ายแบบนั่งทานในร้านได้ แต่ ศบค.ระบุว่าต้องเป็นร้านไม่เกิน 2 คูหา
อย่างร้านอาหารแห่งนี้เป็นร้านใหญ่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเท แต่ขนาดเกิน 2 คูหา เตรียมพร้อมที่จะเปิดร้าน เรียกพนักงานที่กลับบ้านต่างจังหวัดกลับมาที่ร้าน แต่ก็ต้องชะงัก เมื่อยังไม่มีใครให้ความชัดเจนได้ว่าร้านของพวกเขาอยู่ในเกณฑ์ที่เปิดได้หรือไม่
เหลือเวลาพรุ่งนี้อีก 1 วัน ก่อนเริ่มใช้มาตรการผ่อนปรน เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการจะทำให้ทั้ง ศบค. และ กทม. มีประกาศหลักเกณฑ์เพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อช่วยเหลือให้ทุกคนได้เดินหน้าต่อ ควบคู่ไปกับการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคไปพร้อมๆ กัน. – สำนักข่าวไทย