กรุงเทพฯ 29 เม.ย. – รมว.อว.แนะทบทวนยุทธศาสตร์ชาติ เตรียมสังคมหลังโควิด-19 ต้องสร้างคนคุณภาพ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความสุขของสังคม การรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านการใช้ 7 ขยับปรับเปลี่ยนโลก
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในงานเวทีสัมมนา “โลกเปลี่ยน คนปรับ ความพอเพียงในโลกหวังโควิด” ผ่านระบบออนไลน์ ว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคมหลังปัญหาโควิด-19 จากนี้ไปโควิด-19 ได้ผลักดันให้สังคมเปลี่ยนแปลงตัวเองรวดเร็วมากขึ้นอีกหลายด้านผ่านการใช้แนวทาง 7 ขยับปรับเปลี่ยนโลก ประกอบด้วย 1.โมเดลตลาดเสรี เปลี่ยนเป็นการร่วมสร้างสรรค์ตลาดร่วมกัน 2. การแข่งขันการผลิตและบริโภค จะหันมาร่วมมือกันมากขึ้น 3.การมุ่งเน้นเติบโตทางเศรษฐกิจ หันมามุ่งเน้นการเติบโตอย่างสมดุล 4. การสร้างระบบนิเวศน์การเติบโตทางเศรษฐกิจ เอื้อต่อการเติบโตของมนุษย์ 5. การมีชีวิตร่ำรวยทางวัตถุ ต้องเปลี่ยนมาเป็นการหาความร่ำรวยความสุข 6.แนวทางเศรษฐกิจเส้นตรง เน้นมาใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน 7.การตักตวงผลประโยชน์จากส่วนรวม เปลี่ยนมาเป็นการช่วยรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม
นายสุวิทย์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องกำหนดวาระขับเคลื่อนประเทศไทย เตรียมพร้อมสู่โลกหลังโควิด-19 ต้องกำหนดกระบวนทัศน์การพัฒนายุคใหม่ การใช้ 7 ขยับปรับเปลี่ยนโลก การสร้างพิมพ์เขียวยุทธศาสตร์ประเทศไทย การกำหนดวาระการขับเคลื่อน จากแผนปฏิรูปเดิม ยุทธศาสตร์ชาติฉบับเดิม 20 ปี ต้องทบทวนอย่างไร เพื่อหวังแสวงหาผลลัพธ์ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความสุขของสังคม การรักษ์สิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาของมนุษย์ นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะนี้ไทยกำลังเผชิญวิกฤติภัยแล้ง หลังเจอวิกฤติโควิด จึงต้องปรับตัวรองรับภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติอีกหลายด้านให้มีประสิทธิภาพ
ในเวทีสัมมนาได้แสดงความเห็นอย่างหลากหลายจากภาคเอกชน นักวิชาการรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แม้ต่างชาติจะมองว่าเชย แต่พบว่าเป็นแนวทางที่นำไปใช้ได้ในระดับสากล และมีบทบาทอย่างมากในสังคมยุคใหม่ อีกทั้งเป็นห่วงว่าวัคซีน ยารักษาโรค ทำให้รายย่อย ประชาชนทั่วไปเข้าถึงยารักษาได้อย่างเท่าเทียม การใช้กลไก อสม.ของไทยเข้าไปช่วยดูแลชุมชน ป้องกันปัญหาโควิด -19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้หลายประเทศนำไปปรับใช้ เพราะ อสม.เข้าถึงทุกชุมชน จึงต้องพัฒนากลุ่ม อสม.ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นรองรับโรคระบาดในอนาคต นอกจากนี้ หลังจากโควิด-19 นับว่าขยะถุงพลาสติกเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากการสั่งอาหาร สินค้า ของใช้ในบ้าน จนสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมเยอะมาก จึงต้องปรับวิถีชีวิตหลังโควิด New Normal รัฐบาลต้องปรับนโยบาย ต้องส่งเสริมจิดสำนึกจิตสาธารณะ เพื่อจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ยังต้องหันมาดูบทเรียนปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ ปริมณฑล หลังจากปัญหาโควิด-19 ปัญหาจราจรคลี่คลายไปอย่างมาก การเดินทางใน กทม.และจังหวัดใกล้เคียงใช้เวลาไม่ถึง 30 นาที จากเดิมใช้เวลานานนับชั่วโมง สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างมาก เมื่อหลายหน่วยงาน หลายองค์กร กำหนดให้พนักงาน เจ้าหน้าที่บางส่วนทำงานจากบ้าน เพราะไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องแต่งตัว ไม่ต้องแต่งหน้า แต่สามารถทำให้งานหลายหน่วยงานเดินหน้าต่อไปได้ และต้องสร้างแรงดึงดูดให้แรงงานเดินทางกลับต่างจังหวัด พัฒนาอาชีพมีรายได้จากพื้นที่ตนเองผ่านออนไลน์
นายกิติพงศ์ พร้อมวงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัตกรรมแห่งชาติ (สกอว.) กล่าวว่า การกำหนดแนวทาง New Normal ให้กับสังคมไทย ทั้งลดปัญหาจราจรได้อย่างมาก เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตคนในสังคม การเข้าถึงทุกคนได้ทุกพื้นที่ ช่วยผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ การจัดระบบชีวอนามัย ในทุกองค์กรเพื่อดูแลป้องกันแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ จะเกิดอาชีพใหม่ ความต้องการของทุกองค์กร เพราะต้องให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพสูงมากขึ้นจากปัญหาโควิด-19.- สำนักข่าวไทย