ภูเก็ต 26 เม.ย.- โควิด-19 ภูเก็ต ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงบ้านบางเทา ขณะที่การรักษาผู้ป่วยหายเพิ่มขึ้นรวมแล้ว 161 ราย
คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตรายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ประจำวันที่ 26 เม.ย.63 ยังพบผู้ป่วยรายใหม่อีก 4 ราย ยอดป่วยสะสม 206 ราย รักษาหายกลับบ้านรวมแล้ว 161 ราย รักษาพยาบาลอยู่ 45 ราย ในจำนวนนี้อาการรุนแรง 4 ราย ที่เหลืออาการอยู่ในเกณฑ์ดี และรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 51 ราย
สำหรับผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 รายใหม่ ทั้ง 4 ราย มีรายละเอียดดังนี้
– ลำดับที่ 1 รายที่ 203 หญิงไทย อายุ 23 ปี อาชีพ ค้าขายที่บ้านในพื้นที่บ้านบางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดร่วมบ้านกับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 161 ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการตรวจหาเชื้อครั้งแรกเมื่อ 9 เม.ย. ให้ผลลบ ได้ถูกกักตัวที่โรงแรมครบ 14 วันแล้ว หลังจากนั้นได้มีการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ผลพบเชื้อ ปัจจุบันไม่มีอาการป่วย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวน 2 คน
– ลำดับที่ 2 รายที่ 204 ชายไทย อายุ 62 ปี อาชีพคนดูแลมัสยิดแห่งหนึ่งในพื้นที่บ้านบางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 196 อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านบางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง ผู้ป่วยรายนี้พบจากการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ ปัจจุบันไม่มีอาการป่วย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวน 15 คน
– ลำดับที่ 3 รายที่ 205 ผู้ชายไทย อายุ 57 ปี อาชีพค้าขายที่บ้านในพื้นที่บ้านบางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 196 ผู้ป่วยรายนี้พบจากการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ เคยมีอาการป่วยที่เข้าข่ายในช่วงปลายเดือนมีนาคม ปัจจุบันไม่มีอาการป่วย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวน 9 คน
– ลำดับที่ 4 รายที่ 206 ชายไทย อายุ 43 ปี อาชีพครูสอนศาสนาในพื้นที่บ้านบางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 196 อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านบางเทา ผู้ป่วยรายนี้พบจากการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ เคยมีอาการป่วยที่เข้าข่ายในช่วงปลายเดือนมีนาคม ปัจจุบันไม่มีอาการ มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวน 7 คน
ทั้งนี้ ผู้ป่วยทั้งหมดพบในพื้นที่บ้านบางเทา และมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยบางรายที่พบจากการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่น่าจะมีอาการป่วยในช่วงก่อนหน้านี้และหายป่วยแล้ว แต่ยังคงตรวจพบซากเชื้ออยู่ ส่วนประเด็นที่ผู้ป่วยเคยได้รับการตรวจหาเชื้อครั้งแรกแต่ไม่พบ แล้วมาพบเชื้อในครั้งที่สองนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายสงสัยโควิด-19 หรือผู้สัมผัสผู้ป่วย ถึงแม้จะตรวจไม่พบเชื้อก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด .-สำนักข่าวไทย