กทม. 24 เม.ย. – หลายภาคส่วนรอลุ้นการประกาศคลายล็อกหรือผ่อนปรนมาตรการสกัดโควิด-19 ในพื้นที่ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการคลายล็อกขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ประกาศใช้เมื่อ 26 มีนาคมที่ผ่านมา จะครบกำหนดวันที่ 30 เมษายนนี้ กว่า 30 วันที่ผ่านมา มาตรการเข้มเริ่มบังคับใช้นับแต่ 27 มีนาคม กทม.สั่งปิดบางสถานที่เป็นการชั่วคราว จนส่งผลให้คนที่ทำงานในเมืองกรุงต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา ส่งผลให้หลายจังหวัดต้องประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยง
สถานการณ์เริ่มตึงเครียดที่สุดวันที่ 2 เมษายน รัฐบาลตัดสินใจประกาศเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานทั่วประเทศ ห้ามเครื่องบินบินเข้าไทย
7 เมษายน มีคำสั่งเลื่อนเปิดเทอม ไป 1 กรกฎาคม
8 เมษายน ห้ามจัดงานสงกรานต์ทุกระดับ
9 เมษายน ห้ามขายเครื่องดื่มแอกกอฮอล์ ระหว่างวันที่ 10- 20 เมษายน และขยายต่อถึงสิ้นเดือน หลังจากนั้นดูเหมือนสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย จนตัวเลขผู้ป่วยอยู่ที่สิบกว่าคน ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา
การประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า หลายฝ่ายจับตารัฐบาลจะขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ หรืออาจมีมาตรการผ่อนปรนออกมา เนื่องจากมีเสียงเรียกร้องจากผู้ประกอบการ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งวิถีชีวิต ปากท้อง และธุรกิจ
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ย้ำมาตลอดว่า การตัดสินใจดูจากสถิติตัวเลขการติดเชื้อว่าดีขึ้นหรือไม่ แม้มีสัญญานที่ชี้ถึงความเป็นไปได้ที่จะผ่อนปรน แต่ ศบค.หยิบยกบทเรียนจากหลายประเทศที่การ์ดตกจนติดเชื้อพุ่ง ที่สุดต้องขยายเวลาล็อกดาวน์ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเชีย อังกฤษ มาเลเชีย ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดกับไทยคงคาดการณ์ไม่ได้ หากคลายล็อกทั้งหมด ตัวเลขอาจสูงขึ้น ส่วนการที่บางจังหวัดตัดสินใจผ่อนคลาย อาจต้องรอการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค.
อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอจากกระทรวงสาธารณสุขที่ระดมความเห็นจากนักวิชาการ คณบดีแพทยศาสตร์ นักวิชาการด้านระบาดวิทยา เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบ และมีแผนป้องกันไม่ให้โควิด-19 กลับมาระบาดหนักอีกระลอก
สำหรับกลุ่มพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะผ่อนปรนมาตรการต้นเดือนพฤษภาคม คาดเป็นจังหวัดที่ไม่มีการระบาดเลย 9 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีการระบาดต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ หากสถานการณ์ดีขึ้น จะพิจารณาเพิ่มจังหวัดที่ติดเชื้อประปรายให้กลับเข้าสู่ปกติ คาดว่ากลุ่มนี้จะดำเนินการได้กลางเดือนพฤษภาคม
ส่วนจังหวัดอื่นๆ จะพิจารณาผ่อนปรมตามมา ขณะที่ห้างสรรพสินค้าต้องมีแผนรับมือ ทั้งการตรวจคัดกรองหน้าทางเข้า กำหนดระยะเวลาการใช้บริการ และจำนวนผู้เข้ารับบริการ สิ่งสำคัญห้ามจัดนาทีทองโปรโมชั่นอย่างเด็ดขาด. – สำนักข่าวไทย