สำนักข่าวไทย 23 เม.ย. 63 – “บิณฑ์” ตั้งใจสละเงินส่วนตัว 5 ล้านตระเวนมอบชุมชนยากไร้ลำบากขั้นสาหัส-ตกงานฉับพลัน ช่วงการระบาดโควิด-19 พบกว่า 90% เข้าไม่ถึงเงินเยียวยา 5,000 บาท ปลื้มยอดสมทบทุนทะลุ 10 ล้านบาทมากกว่ายอดที่ตั้งใจ ด้านผู้ว่างงานถึง 91% โอดอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน หนี้สินและค่าใช้จ่ายรออยู่
เฟซบุ๊กแฟนเพจ “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ที่มีคนติดตามกว่า 8.2 ล้านคน ตลอดเดือนเมษายนนี้ มีคนเข้าชมคลิปภารกิจประจำวันของเขาที่มียอดการดูหลักหลายหมื่นจนถึงหลักแสน ทั้งชมสดและย้อนหลัง พร้อมแสดงความคิดเห็นมากมาย หลายคนได้ “คอมเมนต์” ให้ฉายาแก่ บิณฑ์ ว่า “เทวดาเดินดิน” “พ่อพระของคนจน” “คนดีของคนยากไร้” ในระหว่างการเห็นภาพ บิณฑ์ และคู่แฝดของเขา เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ เดิน หรือ มุด เข้าไปตามตรอกซอกซอย ในชุมชนต่างๆ ของกรุงเทพฯ เพื่อไปมอบเงินช่วยเหลือ
“บิณฑ์” เล่าผ่านเฟซบุ๊กของเขา ถึงที่มาของการใช้เงินส่วนตัวไปแจกให้คนยากไร้ตามชุมชนต่างๆ ใน กทม.ว่า มีจุดเริ่มเมื่อราวต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้เห็นคนแก่ ผู้หญิงและเด็กตามแยกไฟแดง ไม่ได้ขายพวงมาลัยเหมือนเดิม แต่กลับมาเคาะกระจกรถเพื่อขอเงิน จากนั้นวันที่ 4 เมษายน เขาได้ไปลงพื้นที่ชุมชนโรงหมู ย่านคลองเตย พบคนจำนวนมากที่เดือดร้อนไม่มีงานทำ เนื่องจากการปิดสถานที่ต่างๆ จึงนำเงินส่วนตัวที่ได้จากการเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าต่างๆ ประมาณ 5 ล้านบาทไปแจกครอบครัวละ 2,000 บาทกับ 500 บาทได้ประมาณ 300 ครอบครัว และตั้งใจจะไปแจกตามชุมชนอื่นๆ ต่อไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน
ที่ต้องลงไปให้เงินตามบ้านนั้น เนื่องจากเห็นปัญหาของคนกลุ่มที่ไม่สามารถออกไปจากบ้านได้เพราะเป็นคนแก่หรือมีเด็กเล็ก ทำให้คนส่วนนี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ เลย ส่วนพื้นที่จะเน้นชุมชนมีความเป็นอยู่ลำบากยากจนชนิดสาหัส หรือยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ คนที่ไม่มีทะเบียนราษฎร แรงงานต่างด้าวกลับบ้านไม่ได้ ต่อมามีผู้สมทบทุนบริจาคถุงยังชีพ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และเงินเข้ามาจน ทะลุยอดที่ตั้งใจไว้ 10 ล้านบาทแล้ว
อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ หนึ่งในทีมงานของมูลนิธิร่วมกตัญญูที่ลงพื้นที่ร่วมกับบิณฑ์ มาเป็นเวลา 2 สัปดาห์แล้ว เล่าว่าข้อมูลพื้นที่ชุมชนต่างๆ ที่ทีมงานเข้าไปช่วยเหลือแบบเคาะประตูบ้าน มาจากการประสานติดต่อจากประธานชุมชนนั้นๆ ซึ่งบิณฑ์จะเน้นคนที่อยู่แบบลำบากมากๆ แบบเพิงพัก สิ่งที่พบคือ กว่าร้อยละ 90 เป็นคนที่ไม่ได้รับการเยียวยาจำนวน 5,000 บาทของรัฐบาล โดยมีทั้งอาชีพขับรถจยย.ส่งเอกสาร ลูกจ้างรายวัน ที่ตกงานหลังจากมีการประกาศปิดสถานที่ประกอบการต่างๆ มาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ภาพสถานที่ที่ปรากฏในคลิปรายวัน ที่ทีมงานของมูลนิธิร่วมกตัญญูถ่ายทำ ระหว่างการลงพื้นที่ของบิณฑ์ และเอกพันธ์ แทบไม่เชื่อสายตาว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของคนทั่วไปได้ บางแห่งเป็นมุมอับใต้สะพาน ซอยคับแคบชนิดต้องตะแคงตัวเดินได้ทีละคน หลายครอบครัวมีคนแก่ คนป่วยนอนติดพื้น และจำนวนไม่น้อยเป็นครอบครัวที่มีเด็กเล็ก คนเหล่านี้ในแต่ละชุมชนมีจำนวนหลายร้อยหลังคาเรือน นับเป็นคนเรือนพัน ก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด 19 พวกเขายังพอดิ้นรนยังชีพด้วยการทำงานต่างๆ แต่จากคำสั่งของรัฐบาลที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม – 30 เมษายน ทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นคนตกงานแบบฉับพลัน แม้ภาครัฐได้เปิดการลงทะเบียนออนไลน์รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาท แต่ด้วยสภาพอัตคัดขัดสนไม่สามารถเข้าถึงระบบดังกล่าว ทำให้คนเกือบทั้งหมดตกหล่นจากระบบการเยียวยาของรัฐไปอย่างน่าเศร้า ดังนั้นเงินช่วยเหลือครอบครัวละ 500 บาท หรือมากกว่าคือ 1,000 บาท หากมีสมาชิกในครอบครัวจำนวนมากหรือมีคนป่วย เป็นเด็กได้อีกคนละ 100 บาท ที่พวกเขาได้รับมอบให้ถึงมือจากบิณฑ์ จึงมีความหมายอย่างยิ่งต่อการบรรเทาความทุกข์ อย่างน้อยก็เพียงพอสำหรับการซื้อข้าวสาร อาหารประทังชีวิตไปได้หลายวัน
จากข้อมูลการสำรวจของสภาพัฒน์หรือสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกี่ยวกับมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ปัญหาและความต้องการของภาคธุรกิจ รวมทั้งพนักงาน ลูกจ้าง แรงงาน ระหว่างวันที่ 9-14 เมษายน 63 จากกลุ่มเป้าหมายเกือบ 9,000 คนทั่วประเทศระบุว่า คนส่วนใหญ่ถึง ร้อยละ 88 ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ มีเพียงร้อยละ 12 ที่ยืนยันว่าได้รับความช่วยเหลือของภาครัฐ ส่วนผู้ว่างงานถึงร้อยละ 91 บอกว่ามีแนวโน้มจะอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน เนื่องจากมีภาระหนี้สินและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
คำถามคือผู้คนที่ตกหล่นจากระบบความช่วยเหลือเหล่านี้จะมีเรี่ยวแรงเหลือพอที่จะรอคอยวันที่ประเทศผ่านวิกฤตโควิด 19 ได้นานเพียงใด
เรียบเรียง : อรวรรณ กริ่มวิรัตน์กุล สำนักข่าวไทย
ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” และ เฟซบุ๊ก “NAKON45 อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ “