ภูมิภาค 20 เม.ย. – พระครูคุณสารสัมปัน เจ้าคณะอำเภอพิมาย จ.นครราชสีมา พร้อมผู้ใจบุญ นำข้าวสาร อาหารแห้ง บรรจุใส่ถุง 500 ชุด แจกให้กับประชาชน เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากโควิด-19
บริเวณถนนมูลเมืองในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งในช่วง 16.00 น. ของทุกวัน ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน จะมีการนำถุงยังชีพมาแจก ปรากฏว่ามีชาวบ้านมารอคิวกันตั้งแต่เช้า เนื่องจากกลัวจะไม่ได้รับของ ซึ่งจำกัดการแจก 100 ชุดต่อวัน โดยใช้ขวดน้ำ ถุงผ้า หมวกกันน็อก เขียนชื่อนำมาวางบนทางเท้า เว้นระยะห่าง 1 เมตร เป็นแถวยาว ตั้งแต่หน้าร้านคุ้มเสือ จุดแจกถุงยังชีพ ยาวไปถึงทางโค้งบ้านพัก คนชราธรรมปกรณ์ ชาวบ้านที่มารอรับถุงยังชีพเล่าว่า ที่มาจองคิวเพราะคนมีจำนวนมาก แต่ของมีจำกัด จึงมาแต่เช้า ใช้ขวดน้ำมาวางจองตั้งแต่ 09.00 น. และไปนั่งที่ร่มใต้ต้นไม้เฝ้า หากไม่เฝ้าก็กลัวจะมีคนอื่นมาแทรก และนั่งรอถึง 16.00 น. โดยจะได้รับถุงยังชีพ ภายในมีข้าวสาร อาหารแห้ง ปลากระป๋อง น้ำดื่ม เพียงพอใช้ทำอาหารบริโภคได้ 1 วัน นอกจากนี้ยังแจกข้าวกล่องให้อีก 1 กล่องด้วย แต่ทางร้านจะมีการจัดระเบียบ เว้นระยะห่าง มีการวัดไข้ ใช้เจลล้างมือ ก่อนรับสิ่งของ
ที่วัดป่าหนองหิน จังหวัดนครราชสีมา พระครูคุณสารสัมปัน เจ้าคณะอำเภอพิมาย พร้อมผู้ใจบุญ นำข้าวสาร เส้นหมี่โคราช ไข่ไก่ น้ำเปล่า และอาหารแห้ง นำมาบรรจุใส่ถุง 500 ชุด แจกให้กับประชาชน เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อโควิด-19 ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ บางคนต้องตกงาน ไม่มีงานทำ ทำให้ขาดรายได้มาจุนเจือครอบครัว โดยมีชาวบ้าน 6 หมู่บ้านในตำบลรังกาใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา กว่า 500 คน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา พากันเข้าคิวรับแจกข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องบริโภค ซึ่งทางวัดได้จัดการแจกของอย่างเป็นระบบ มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สาธารณสุข อสม. มาคอยจัดระเบียบยืนเข้าแถว เว้นระยะห่าง 1 เมตร มีระบบเข้าคิวตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิร่างกาย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกคน เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี ไม่มีเหตุชุลมุนวุ่นวาย
ชาวบ้านนับร้อยต่อแถวรอรับปลานิลจากนายมงคล จุลทัศน์ เจ้าของกิจการขายรถมือสองในจังหวัดอุบลราชธานี โดยปลาที่นำมาแจกจ่ายในครั้งนี้ น้ำหนักรวมกว่า 1 ตัน ซื้อจากเกษตรกรในจังหวัด ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ด้วยเช่นกัน
นายมงคล เปิดเผยว่า พิษโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างทั่วหน้า บริษัทเองก็ได้รับผลกระทบ ลูกค้ารถมือสองที่เป็นเกษตรกรเลี้ยงปลานิลขายปลาไม่ได้ ต้องยอมขายขาดทุน หากเลี้ยงต่อจะขาดทุนเพิ่มจากค่าอาหารปลา จึงได้รวมตัวกันนำปลามาขายที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จนถึงวันที่ 30 เมษายน ตนเป็นผู้ประกอบการรถยนต์มือสอง พอมีกำลังทรัพย์อยู่บ้าง จึงซื้อปลานิลมา 1 ตัน มาแจกจ่ายเพื่อแบ่งเบาภาระให้กับชาวบ้านรอบเต็นท์รถ คนละ 3 กิโลกรัม มีคนมารับปลานิลจำนวนมาก แต่ไม่สามารถที่จะแจกได้ครบทุกคน ตามมาตรการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยเครื่องป้องกัน หากใครไม่ทำตามข้อกำหนดก็จะไม่ได้รับแจกเด็ดขาด.-สำนักข่าวไทย