สำนักข่าวไทย 20 เม.ย.-ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส เสนอจุดสมดุลโรคโควิด-19 กับภาวะเศรษฐกิจ สังคม ผ่อนปรนการประกอบอาชีพ “ตัดผมเสริมสวย-เปิดห้าง-ร้านอาหาร” ให้คนไปตัดผมได้ กินอาหารในร้านได้ แต่ต้องจำกัดจำนวน มีระยะห่าง และซื้อของในห้างรีบซื้อรีบกลับ ส่วนสถานบันเทิง-แข่งกีฬา งดต่อ เพราะเสี่ยงสูง และคงการอยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน อีกระยะหนึ่ง
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง “โควิด 19 กับจุดสมดุล” ว่า การควบคุมโรค โควิด 19 ให้เหลือน้อยที่สุด หรือหมดไปจากประเทศไทยได้ยิ่งดี แต่ขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจ สังคมจะต้องอยู่ในจุดสมดุลย์ ถ้าต้องการให้โรคหมดไป ภาวะเศรษฐกิจและสังคม ก็จะอยู่ในภาวะลำบากมาก ถ้ากลับไปอยู่สภาพเดิม ของภาวะเศรษฐกิจและสังคม เราก็จะควบคุมการระบาดของโรคไม่ได้
การเปิดประเทศ เปิดเมือง ขยายกิจกรรมต่างๆ จะต้องค่อยเป็นค่อยไป พร้อมทั้งนี้กฎเกณฑ์ในการให้ โควิด 19 พบน้อยที่สุด กิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำมากๆ จะต้องยอมให้เปิดก่อน แต่ต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ กำหนดระยะห่างของสังคม
การดูแลเรื่องสุขอนามัย การเข้าค้นหาผู้ป่วยให้เร็วที่สุด การควบคุมโรค ไม่ให้แพร่ขยายต่อได้ ทุกคนต้องช่วยกันเฝ้ามอง และเคารพในกฎเกณฑ์
กลุ่มเสี่ยงยังคงต้องอยู่บ้าน ผู้ออกนอกบ้าน จะต้องคำนึงถึงคนในบ้าน ไม่นำพาโรคเข้ามา โดยเฉพาะให้กับผู้สูงอายุ
การประกอบอาชีพหลายอย่าง อาจจะต้องเปลี่ยนไปบ้าง ยกตัวอย่างเช่น การตัดผม เสริมสวย จะต้องเคร่งครัดใส่หน้ากากอนามัยทั้งสองฝ่าย และพูดคุยกันให้น้อยที่สุด กำหนดระยะห่างภายในร้าน หรือมีการนัดคิว นัดเวลา ไม่ควรรอในร้านหลายคน
การเปิดห้างจะทำอย่างไร ให้คนไปซื้อของที่จำเป็น และอยู่ภายใน ให้ใช้เวลาน้อยที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีคนจำนวนมาก ลดการสัมผัสระหว่างคน
ร้านอาหาร จะต้องจำกัดคนที่รับประทานในร้าน กำหนดระยะห่าง ให้เน้นการซื้อกลับบ้าน
ทุกคนควรอยู่บ้าน การทำงานที่บ้าน ยังคงจะต้องอยู่ไประยะหนึ่ง
สถานบันเทิง การแข่งกีฬา ที่อนุญาตให้คนเข้าชมควรจะต้องงด เพราะถือเป็นความเสี่ยงสูง
ทุกคนจะต้องช่วยกัน คนที่เสียโอกาส เสียอาชีพ ไม่มีงานทำ จะต้องได้รับการช่วยเหลือ จากรัฐบาลและผู้มีความพร้อมที่จะช่วยได้ เราต้องต่อสู้อีกยาวนาน บนความสมดุลของทุกฝ่าย แบบพอเพียง โควิด 19 ทำให้ต้องมีการจัดระเบียบของสังคมใหม่ เพื่อความอยู่รอดของทุกฝ่าย
เราต้องร่วมกันอีกยาวนาน จนกว่าจะมีวัคซีน ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค.-สำนักข่าวไทย