ภูเก็ต 18 เม.ย.-กลุ่มชาวเลหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ในวิกฤติก็มีโอกาส เมื่อพวกเขามีโครงการปลาแลกข้าวสาร
ชาวเลหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต กำลังช่วยกันเร่งมือแล่ปลากล้วยทะเลสดที่หามาได้จากการออกเรือเช้านี้้ แปรรูปเป็นปลาเค็มตากแห้งเป้าหมายไม่ใช่เพื่ิอขายแลกเงินเหมือนทุกครั้ง แต่เพื่อใช้แลกกับข้าวสาร หลังร้านอาหารและร้านรับซื้อสัตว์ทะเลสดในภูเก็ต ต้องปิดตัวลงชั่วคราว ตามมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ล็อกดาวน์เกาะภูเก็ต เป็นเวลา 30 วัน และล็อกดาวน์พื้นที่รอยต่อตำบลทั้ง 17 ตำบล
ปลาเค็มตากแห้งเหล่านี้ ถือเป็นปลาลอตแรก ที่ชาวเลหาดราไวย์ ช่วยกันแปรรูปเพื่อเตรียมส่งไปแลกกับข้าวสาร กับกลุ่มเพื่อนๆ ชาติพันธ์ุในภาคตะวันออกและภาคอีสาน โดยปลาตากแห้ง 1,000 กิโลกรัม จะแลกเป็นข้าวสารกลับมาได้ 4,500 กิโลกรัม หลังจากได้ข้าวสารมาแล้ว ชาวเลก็จะนำมาจากจ่ายให้กับทุกคนในชุมชน เพื่อเลี้ยงปากท้องในช่วงที่ไม่มีรายได้ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19
สนิท แซ่ซั่ว และ สมศรี ดำรงเกษตร ชาวเลหาดราไวย์ บอกว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของชาวเลแบบถ้วนหน้า บางครอบครัวเริ่มเจอปัญหาไม่มีเงินซื้อข้าวสาร เพราะรายได้หลักที่เคยมาจากการรับจ้างขับเรือหัวโทงรับส่งนักท่องเที่ยวตามเกาะแก่ง รวมถึงขายสัตว์ทะเลที่จับมาได้หดหายไปหมด ช่วงแรกทุกคนเป็นทุกข์หนัก แต่ตอนนี้เบาใจลง เพราะมั่นใจว่าครอบครัวจะไม่อดข้าวตายจากความหิวโหย
เมื่อปลาเค็มตากแห้งชุดแรกที่ชุมชนช่วยกันลงแรงทำ กำลังจะเปลี่ยนเป็นข้าวสารกลับมาให้เพื่อนชาวเลและลูกหลานในชุมชนได้กินอิ่มท้อง หลังมูลนิธิชุมชนไทเข้ามาช่วยเป็นสื่อกลางตามโครงการปลาแลกข้าวสาร ตั้งเป้าแปรรูปปลาตากแห้งให้ได้ทั้งหมด 3,000 กิโลกรัม
นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ บอกว่า เทศบาลเตรียมส่งปลาเค็มตากแห้งชุดแรก จำนวน 1,000 กิโลกรัม ให้กับกลุ่มชาติพันธ์ุในจังหวัดยโสธร โดยกองทัพอากาศสนับสนุนการขนส่งทางเครื่องบินในวันจันทร์นี้ ทั้งนี้ตลอดช่วงเวลาที่ชาวเลหาดราไวย์ ช่วยกันแปรรูปปลาเค็มตากแห้งในหมู่บ้านทางเทศบาลได้เข้ามาดูแลและกำชับเรื่องสุขอนามัย ทุกคน จะต้องสวมหน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่าง ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อผู้คน ในทุกสาขาอาชีพอย่างกว้างขวาง แต่ท่ามกลางวิกฤติย่อมยังมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ ในอนาคตชาวเลหาดราไวย์ตั้งเป้าว่าจะต่อยอดวิกฤติในโอกาสนี้ พัฒนาปลาเค็มแห้งแปรรูปให้เป็นโอทอปของชาวเลเอง เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้แก่ชุมชนต่อไปด้วย.-สำนักข่าวไทย