กรุงเทพฯ 17 เม.ย.-ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยืนยันไม่เห็นด้วย หลัง BEM ขอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เยียวยา โดยอ้างว่าได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ทำให้ผู้ใช้ผ่านทางมีจำนวนลดลง
นายประสงค์ สีสุขใส ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทางสหภาพฯได้ออกแถลงการณ์ กรณี บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มีหนังสือลงวันที่ 16 เมษายน 2563 ถึงการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อให้พิจารณาแนวทางการชดเชยผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น
ทางสหภาพฯ เห็นว่าการที่รัฐบาลประกาศมาตรการควบคุมโรคระบาดติดต่อ อันตรายร้ายแรงโรคไวรัสโควิด- 19 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เพื่อไม่ให้ระบาดไปสู่ประชาชนในวงกว้าง เพราะจะทำให้การควบคุมโรคเป็นไปได้ยาก ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นการกำหนดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ขัดกับสัญญาและเป็นเหตุให้การทางพิเศษต้องชดเชยให้บริษัท
นายประสงค์ยังระบุว่า ทางสหภาพฯ กทพ. มองว่า ไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องดังกล่าว และสถานการณ์โควิด-19 ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ไม่จำเป็นที่จะต้องชดใช้ให้ BEM เพราะไม่เข้าข่ายในสัญญา ส่วนข้อ 18.1 และ 18.2 ที่ระบุในสัญญา เป็นเรื่องของเมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยและจะต้องมีการชดเชย เมื่อเหตุดังกล่าวมีผลกระทบต่อการเงินรายได้บริษัทฯ เช่น การชดเชยเป็นตัวเงิน การต่ออายุสัมปทาน และการเพิ่มอัตราค่าผ่านทาง
“ก่อนหน้านี้ กรณีน้ำท่วมใหญ่ ครม.ประกาศยกเว้นค่าผ่านทาง การทางจึงต้องชดเชยค่าผ่านทางให้ แต่ครั้งนี้เรายังไม่มีประกาศยกเว้นค่าผ่านทาง ยังเปิดให้บริการตามปกติ จึงไม่จำเป็นต้องชดเชยให้”นายประสงค์กล่าว
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าวันนี้ ทางผู้บริหาร การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงถึงกรณีดังกล่าวว่าจะมีการเยียวยาให้ BEM หรือไม่.-สำนักข่าวไทย