ก.แรงงาน 17 เม.ย.-เผยยอดตัวเลขแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เกือบ 2 แสนคน จาก 6 หมื่นสถานประกอบการ ในจำนวนนี้แจ้งเลิกประกอบกิจการแล้วกว่า 1,000 แห่ง แรงงานตกงานกว่าหมื่นคน
นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์ด้านแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ว่า ปัจจุบันมีข้อมูล ซึ่งทำร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ล่าสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 พบว่ามีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ จำนวน 62,139 คน มีลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็นลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานรายเดือน จำนวน 130,334 คน ,พนักงานลูกจ้างรายวัน 48,759 คน และลูกจ้างอื่นๆ หรือลูกจ้างที่ได้รับส่วนแบ่งกับนายจ้าง จำนวน 7524 คน รวมเป็นลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจำนวน 186,620 คน
สำหรับแรงงานกลุ่มดังกล่าวนี้เป็นแรงงานที่ได้รับผลกระทบ โดยภาพรวม แต่ยังไม่ได้แยกว่า เป็นแรงงานในสถานประกอบการที่หยุดกิจการชั่วคราว หรือหยุดกิจการชั่วคราวตามคำสั่งรัฐ หรือผู้ประกอบการเลิกกิจการ ซึ่งการจะแยกว่าเป็นแรงงานที่ว่างงานชั่วคราวหรือตกงานจริง จะต้องรอ การมาแจ้งยกเลิกการประกอบกิจการตามกฏหมาย
โดยขณะมีข้อมูลที่ผู้ประกอบการมาแจ้ง เพื่อยกเลิกการดำเนินกิจการตามกฏหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จากผลกระทบโควิด-19 ล่าสุด แจ้งเลิกการประกอบกิจการ และยังไม่สามารถตกลงกับลูกจ้างได้ประมาณ 1,000 แห่ง มีลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบประมาณ 10,000 คน ซึ่งกรมสวัสดิการฯ ได้ลงพื้นที่ไปให้ความช่วยเหลือในการเจรจาไกล่เกลี่ยและช่วยเหลือลูกจ้างเพื่อให้ทราบสิทธิและได้รับสิทธิตามมาตรา 118 ซึ่งลูกจ้างจะต้องได้รับเงินชดเชยตั้งแต่ 30 วัน ถึง 90 วันและ 180 วันตามอายุงาน
“ยืนยันว่าจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการ ขณะนี้ส่วนใหญ่มีใจพร้อมจะสู้ต่อ ไม่อยากปิดกิจการเพียงแต่ขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือบ้าง ซึ่งล่าสุด ครม.เห็นชอบให้โควิด-19 ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ลูกจ้างผู้ประกันตนเกิดการว่างงานเป็นจำนวนมาก และกองทุนประกันสังคมจะ ต้องจ่ายเงินกรณีว่างงาน เพื่อเยียวยาผลกระทบที่ร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ในระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณเดือนละ 7,000-8,000 บาท ซึ่งส่วนนี้ผู้ประกอบการก็พอใจและพร้อมจะสู้ต่อไปได้” นายดวงฤทธิ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย