กรุงเทพฯ 25 เม.ย. – กพท.ออกประกาศขยายเวลาห้ามบินเข้าไทย 19-30 เม.ย.นี้ หวังสกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่อเนื่อง
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (15 เม.ย.) ได้ลงนามออกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 3) หลังจากที่ได้เคยออกประกาศฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ไปแล้วเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563 และวันที่ 6 เม.ย. 2563 ตามลำดับ เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รุนแรงมากยิ่งขึ้น และเพื่อสนับสนุนการแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉินข้างต้นให้ยุติลงโดยเร็ว
ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลและความจำเป็นในการคงความต่อเนื่องของมาตรการดังกล่าวต่อไปอีก เพื่อประสิทธิผลในการป้องกันและควบคุมโรคนั้น จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 และมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 จึงมีคำสั่งห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันทื่ 19 เมษายน 2563 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 เวลา 23.59 น. โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
สำหรับการประกาศห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารเข้ามายังท่าอากาศยานประเทศไทยดังกล่าวนั้น ยกเว้นอากาศยานราชการหรือที่ใช้ในราชการทหาร, อากาศยานที่ขอลงฉุกเฉิน, อากาศยานที่ขอลงทางเทคนิค โดยไม่มีผู้โดยสารออกจากเครื่อง, อากาศยานที่ทำการบินเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมทำการบินทางการแพทย์ หรือการขนส่งสิ่งของเพื่อสงเคราะห์แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19, อากาศยานที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินรับส่งบุคคลกลับประเทศไทยหรือกลับภูมิลำเนา และอากาศยานขนส่งสินค้า
นายจุฬา กล่าวต่ออีกว่า สำหรับบุคคลหรือผู้โดยสารบนอากาศยานที่ยกเว้นนั้น จะอยู่ภายใต้บังคับของมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เช่น การกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และบรรดาข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อย่างไรก็ตาม การอนุญาตการบินที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ออกให้แก่อากาศยานขนส่งคนโดยสารสำหรับการบินเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงระยะเวลาตามที่ระบุข้างต้นให้เป็นอันยกเลิก
สำหรับการขอเดินทางกลับประเทศของคนไทยไปที่ตกค้างในต่างประเทศ ที่มีความจำเป็นช่วยเหลือนั้น เป็นไปตามขั้นตอนที่กระทรวงการต่างประเทศเคยระบุไว้ว่าจะมีโควต้าไม่เกินวันละ 200 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่กระทรวงสาธารณสุข มีความเห็นว่าเป็นจำนวน ที่สามารถรองรับได้ ทั้งเรื่องของการควบคุมโรค การทำ State Quarantine ในเรื่องของสถานที่และการดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานระบุด้วยว่า ผลการศึกษาของกรมควบคุมโรค ระบุว่า การจำกัดคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ไม่เกิน 200 คน เนื่องจากข้อมูลล่าสุดพบว่า คนไทย ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง ซึ่งขณะนี้พื้นที่เสี่ยงสูง คือประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกา จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 ไม่เกิน 30% แปลว่า หากมีคนไทยเดินทางกลับมาวันละ 200 คน จะมีความเสี่ยงที่จะมีผู้ติดเชื้อ ไม่เกิน 60 คน ซึ่งมาตรการดังกล่าวเมื่อรวมเข้ากับมาตรการเคอร์ฟิว (22.00-04.00 น.) ก็จะทำให้ปริมาณผู้ติดเชื้อ COVID ใหม่ ไม่เกินวันละ 50-60 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ระบบสาธารณสุขของไทยรองรับได้
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กพท.ระบุว่าขั้นตอนนั้น ผู้ที่มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยจะต้องไปแจ้งชื่อไว้ที่กงสุลในต่างประเทศ และมีการปฏิบัติตามเงื่อนไขเรื่องใบรับรองแพทย์ 72 ชั่วโมงตามประกาศ กพท. ก่อนหน้านี้ และเมื่อมีปริมาณของคนไทยที่ลงชื่อมากเพียงพอ สํานักงานกงสุล จะแจ้งมาที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแจ้งกับ กพท.เพื่อทำการอนุมัติเที่ยวบินพิเศษ ทำการบินเข้าสู่ประเทศไทย เมื่อมาถึงไทยก็ทำการคัดกรองตามขั้นตอน และนำคนไทยส่งไป State Quarantine ที่เตรียมไว้ เพื่อกักตัว 14 วัน ซึ่งในส่วนนี้ภาครัฐ มีการเตรียมห้องสำหรับหมุนเวียนกักตัวอย่างน้อย 2,800 ห้อง
ทั้งนี้ในส่วนของเที่ยวบินที่ใช้เป็นเที่ยวบินที่จะบินเปล่า (ไม่มีผู้โดยสาร)เข้ามาประเทศไทย เช่น เที่ยวบินของต่างประเทศที่มีความประสงค์จะบินเข้ามารับคนของประเทศตัวเอง ที่ตกค้างในประเทศไทยเพื่อกลับประเทศ ก็จะแวะรับคนไทยตามจุดบินในประเทศต่างๆ ที่มีการแจ้งลงชื่อไว้ ซึ่งการดำเนินมาตรการดังกล่าวมาประมาณ 1 เดือนก็พบว่า ประสบความสำเร็จดี
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อคืนที่ผ่านมา (14 เม.ย.) มีคนไทยที่เดินทางกลับมาจากเกาหลีจำนวน 130 คน และวันนี้ก็จะมีคนไทยเดินทางกลับจากอินชอน เกาหลี ใต้ อีกจำนวน 175 คนด้วย .- สำนักข่าวไทย