สธ.13เม.ย.-รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำแม้สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น แต่ยังไม่ควรประมาท ต้องคงมาตรการระยะห่างทางสังคม และระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2เมตรไว้ ห่วงอนาคตหากมีการผ่อนปรน เกรงโรคอาจกลับมารุนแรง จี้ปิดสนามมวยและสถานบันเทิงไว้ก่อน หวั่นโรคหวน ขณะที่กรมการแพทย์เผยอัตราครองเตียงในหอผู้ป่วยวิกฤติ นานสุด21 วัน คาด พ.ค.มีเตียงสำรองใน กทม.และปริมณฑล รวม 300 เตียง
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประเมินสถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุด พบการรายงานผู้ป่วยรายใหม่ลดลงต่อเนื่อง ถือว่าสถานการณ์ดีขึ้น ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ยังต้องคงความเข้มข้นมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคม เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร และการดูแลสุขอนามัยที่ดี โดยมาตรการเหล่านี้ ต้องดำเนินการต่อเนื่องยาวนานไปอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อให้จำนวนผู้ป่วยลดลงเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนในอนาคต หากสถานการณ์ดีขึ้นจะมีการผ่อนปรนมาตรการ สามารถทำได้ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร อาจมีการเปิดแต่ต้องจัดบริการ โต๊ะ ต้องมีความห่าง แต่ในส่วนสถานที่ที่ควรปิดอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันการรวมตัวของคนจำนวนมาก ได้แก่ สนามมวย และสถานบันเทิง
อย่างไรก็ตามในสิ่งที่ยังห่วงคือกรณีบุคลากรทางการแพทย์ที่ขณะนี้พบติดเชื้อต่อเนื่องสะสมแล้ว 102 คน โดยร้อยละ 50 เป็นการติดจากการดูแลรักษาผู้ป่วย จึงอยากชี้ว่าการให้ข้อมูลที่แน่ชัดกับบุคลากรทางการแพทย์ มีผลต่อการควบคุมโรค
นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อไปว่า ร้อยละ 80ของผู้ป่วยโรคโควิด -19 มีอาการน้อยมากแต่ยังแพร่โรคได้ จึงขอความร่วมมือทุกคนที่จะไปใช้บริการที่โรงพยาบาลไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด หากมีอาการคล้ายไข้หวัดแม้เพียงเล็กน้อยก็ขอให้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ทันที เพราะระยะหลัง พบผู้ป่วยหลายคนมีอาการเล็กน้อยคล้ายเป็นหวัด แต่แจ้งข้อมูลแค่มาพบแพทย์ตามนัดปกติ สุดท้ายเป็นเหตุแพร่เชื้อให้บุคคลากรโดยไม่รู้ตัว ย้ำการแจ้งข้อมูลที่เป็นจริงทั้งหมดโดยละเอียด จะทำให้มีโอกาสตรวจรักษาได้เร็ว ป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมถึงช่วยป้องกันเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลไม่ให้ป่วยเพิ่มด้วยโรคโควิด-19 เพื่อจะได้มีกำลังเพียงพอดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์การครองเตียงในปัจจุบันพบว่า ขณะนี้สัดส่วนผู้ป่วยวิกฤติในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล มีราว 40 คน อยู่ใน รพ.รัฐ มากกว่าเอกชน โดยได้มีบริการจัด การเตียงไว้สำรอง รวมทั้งสิ้น 150 เตียง คาดว่า ในสิ้นเดือนพฤษภาคมจะสามารถบริการจัดการเตียงและขยายเตียงในหอผู้ป่วยวิกฤติและห้องความดันลบ ได้รวม 300 เตียง
สำหรับอัตราการครองเตียงในผู้ป่วยวิกฤติโควิด-19 พบว่า ในผู้ป่วย 1 คน ต้องนอนรักษาตัวเฉลี่ยเร็วสุด 5 วัน นอนรักษาตัวนานสุด 21 วันและทั่วไปเฉลี่ยนอน 10-14 วัน ซึ่งการขยายเตียงไม่มีปัญหา และสิ่งสำคัญของจำนวนบุคลากรทางแพทย์ที่จะเข้ามาเสริมเพิ่มเติม โดยเตรียมมีการอบรมอายุรแทพย์ เพื่อมาเป็นแพทย์ที่จะสนับสนุนงานดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม
. -สำนักข่าวไทย