กรุงเทพฯ 10 เม.ย.- อธิบดีขนส่งฯ จรดปากกาเซ็นปิดเส้นทางระหว่างจังหวัดทั่วประเทศแล้ว 15 จังหวัด 220 เส้นทาง สกัด COVID -19 และมีการประกาศปิดเส้นทางรถโดยสาาเข้าจังหวัดนครราชสีมาเพิ่มในวันนี้
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.)เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 ได้ เซ็นคำสั่งเรื่อง ระงับการเดินรถโดยสารสารประจำทางในเส้นทางหมวด 2 และหมวด 3ในเส้นทางที่มีต้นทางหรือปลายทางในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จนกว่าจะมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19)ที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยคำสั่งดังกล่าว มีผลตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2563เป็นต้นไป
ทั้งนี้ คำสั่งปิดเส้นทางรถโดยสารต่างๆเป็นไปตามที่คณะกรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ได้อนุมัติในหลักการให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบกในฐานะนายทะเบียนมีอำนาจในการออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการขนส่งในเส้นทางรถโดยสารประจำทางหมวด 1 (รถประจำทางใน กทม.) หมวด 4 (รถเส้นทางสายหลักและสายย่อยใน กทม.) และหมวด 2 (รถที่วิ่งจากสถานีต้นทางกทม.ไปต่างจังหวัด) หมวด 3 (รถที่วิ่งระหว่างจังหวัดในภูมิภาค)และรถโดยสารไม่ประจำทางภายในเขตกรุงเทพมหานคร และระหว่างจังหวัด ต้องจัดการเดินรถตามเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกกำหนด หรือระงับการเดินรถหรือจำกัดพื้นที่การเดินรถในเส้นทางหรือพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสCOVID-19เป็นการชั่วคราว
รวมทั้งล่าสุด นายกรัฐมนตรีมีคำสั่ง เมื่อวันที่ 8 เมษายน 63แต่งตั้งปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการคมนาคม และการขนส่งทั่วราชอาณาจักร อธิบดีกรมการขนส่งทางบกโดยความเห็นชอบของปลัดกระทรวงคมนาคม จึงมีคำสั่ง ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารระงับการเดินรถในเส้นทางหมวด 2และหมวด 3 ได้
นายจิรุตม์ กล่าวว่า การปิดเส้นทางเดินรถเข้าออกระหว่างจังหวัดนั้น เป็นเรื่องที่แต่ละจังหวัดส่งความต้องการในการปิดเส้นทาง เพื่อป้องกันการระบาด COVID -19 เข้ามา ที่กรมการขนส่งทางบก หลังจากนั้น กรมฯจะรายงานให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคม-การขนส่งทั่วราชอาณาจักรพิจารณาอนุมัติ หลังจากนั้นจะออกประกาศ ขณะนี้ยังมีจังหวัดเชียงรายอีก 1 จังหวัดที่ได้มีการเสนอขอ ปิดเส้นทางเดินทางก็จังหวัด เข้ามาให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาด้วย
นายจิรุตม์ กล่าวด้วยว่า สำหรับภาพรวมการดำเนินการของกรมการขนส่งทางบก เพื่อรองรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯนั้น ขนส่งฯได้ออกคำสั่งระงับการเดินรถโดยสารสาธารณะเป็นการชั่วคราวในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งระงับการเดินรถ รวม 15 จังหวัด ประกอบด้วย หมวด 2 ระงับ 35 เส้นทาง จากทั้งหมด 209 เส้นทาง หรือคิดเป็น 16.75% ได้แก่ พังงา 3 เส้นทาง, ภูเก็ต 2 เส้นทาง, กระบี่ 3 เส้นทาง, สตูล 2 เส้นทาง, ยะลา 1 เส้นทาง, พัทลุง 1 เส้นทาง, สงขลา 4 เส้นทาง, นราธิวาส 2 เส้นทาง, บึงกาฬ 2 เส้นทาง, นครราชสีมา 2 เส้นทาง, นครพนม 6 เส้นทาง, ร้อยเอ็ด 4 เส้นทาง และตราด 3 เส้นทาง
ขณะที่หมวด 3 ระงับ 185 เส้นทางจากทั้งหมด 634 เส้นทางหรือคิดเป็น 29.18% ได้แก่ พังงา 3 เส้นทาง, ภูเก็ต 27 เส้นทาง, กระบี่ 10 เส้นทาง, ตรัง 7 เส้นทาง, สตูล 1 เส้นทาง, ยะลา 13 เส้นทาง, พัทลุง 4 เส้นทาง, สงขลา 27 เส้นทาง, ปัตตานี 7 เส้นทาง, นราธิวาส 2 เส้นทาง, บึงกาฬ 10 เส้นทาง, นครราชสีมา 31 เส้นทาง, นครพนม 20 เส้นทาง, ร้อยเอ็ด 17 เส้นทาง และตราด 6 เส้นทาง .-สำนักข่าวไทย