กรุงเทพฯ 9 เม.ย. – รมว.เกษตรฯ ลงนามประกาศม้าลายและสัตว์ในวงศ์เดียวกันอยู่ใน พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์รับผิดชอบโดยกรมปศุสัตว์ ล่าสุดมีมาตรการชัดเจนใช้วัคซีนป้องกันโรค เตรียมหารือทุกฝ่าย เพื่อนำเข้าและควบคุมการใช้ให้ปลอดภัยที่สุด
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้ลงนามในประกาศกระทรวงเกษตรฯ เรื่อง กำหนดสัตว์ชนิดอื่น ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยกำหนดให้ “ม้าลาย” และสัตว์ในวงศ์อีไควดี (Family Equidae) เป็นสัตว์ชนิดอื่นตามมาตรา 34 (4) โดย พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์อยู่ในอำนาจของกรมปศุสัตว์ ซึ่งขณะนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้แล้ว ทำให้สามารถกำหนดมาตรการการนำเข้าและการเคลื่อนย้ายให้เป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์ นอกจากนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์รายงานว่าจะควบคุมการระบาดของกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) โดยการใช้วัคซีนนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ ซึ่งกำชับให้ยับยั้งการระบาดของโรคให้ได้เร็วที่สุด
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีม้า 11,869 ตัว ผู้เลี้ยงม้า 1,850 ราย เลี้ยงมากที่สุดจังหวัดนครราชสีมา 1,790 ตัว เพชรบุรี 826 ตัว กรุงเทพมหานคร 740 ตัว ราชบุรี 687 ตัว และชลบุรี 567 ตัว ขณะนี้พบโรค AHS 6 จังหวัด คือ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี เพชรบุรี ชัยภูมิ และราชบุรี มีม้าตาย 199 ตัว คิดเป็น 88.83 % ของประชากรม้าทั้งหมด ส่วนม้าป่วยคงเหลือ 25 ตัว ซึ่งอัตราการป่วยตายลดลงอย่างต่อเนื่องจากมาตรการของกรมปศุสัตว์ ผลการสอบสวนโรคคาดว่าเชื้อไวรัสก่อโรคเข้ามาไทยประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์กำลังเร่งหาข้อมูลเพิ่มเติม โดยการสำรวจโรคม้าลายซึ่งเป็นสัตว์จากทวีปแอฟริกามีการนำเข้ามาเลี้ยงในสวนสัตว์หลายแห่ง ประกอบกับ มีพายุฤดูร้อนกลางเดือนมีนาคมเกิดฝนตกหนัก ทำให้แมลงดูดเลือดซึ่งเป็นพาหะเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ลมแรงเสริมให้แมลงบินได้ไกล จึงมีม้าป่วยตายพร้อมกันหลายฟาร์ม ตลอดจนอาจเกิดจากการเคลื่อนย้ายม้า การใช้แหล่งน้ำร่วมกัน และรถขนส่งอาหารเข้า-ออกฟาร์มเป็นคันเดียวกัน
ล่าสุดสั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดชะลอการเคลื่อนย้ายม้า ลา ล่อ ม้าลาย ยีราฟ อูฐทั้งประเทศและขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์จนกว่าโรคจะสงบ โดยขอให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เฝ้าระวังเคลื่อนย้ายม้าอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ มีนโยบายชัดเจนในการการใช้วัคซีนป้องกันโรค โดยวัคซีนสำหรับโรคนี้เป็นวัคซีนเชื้อเป็นซึ่งออกฤทธิ์ป้องกันโรคได้เร็ว แต่ต้องหารือผู้เชี่ยวชาญทุกฝ่ายให้สอดคล้องตามหลักการขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ซึ่งต้องควบคุมการใช้วัคซีนอย่างเคร่งครัด ประกอบด้วย ทดสอบวัคซีนที่นำเข้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน กำหนดรูปแบบการใช้ ได้แก่ ปริมาณที่เหมาะสมและฉีดเฉพาะในม้าที่สุขภาพดีเท่านั้น หากฉีดในม้าที่อ่อนแอ ม้าอาจติดเชื้อ AHS แล้วแพร่สู่ม้าปกติได้
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (10 เม.ย.) จะประชุมร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมการนำเข้า-ส่งออกสัตว์ป่าและซากสัตว์ป่าซึ่งรวมถึงม้าลายและสัตว์ในตระกูลเดียวกัน รวมถึงนายสัตวแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย สมาคมผู้เลี้ยงม้า เพื่อกำหนดแนวทางยับยั้งการระบาดของโรคให้เร็วที่สุด ตลอดจนแผนปฏิบัติการควบคุมการใช้วัคซีนอย่างปลอดภัย
“ล่าสุดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ออกประกาศห้ามนำเข้าม้าลายและยีราฟทุกชนิดแล้ว มั่นใจว่าความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะหยุดการระบาดของโรคได้ในเร็ววัน จากนั้นต้องเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดซ้ำ เพื่อที่จะให้ OIE คืนสถานะประเทศปลอดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าภายใน 2 ปี” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย