สำนักข่าวไทย 25 มี.ค.- “พล.อ.ประวิตร” ประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงฯ ร่วมพิจารณาหลายวาระสำคัญ เพื่อกำหนดท่าทีฝ่ายไทยในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง สปป.ลาว นำไปสู่รูปธรรมที่ชัดเจนต่อกัน
วันนี้ (25 มี.ค.) เวลา 10.00 น. ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ประกอบด้วยหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างท่าทีประเทศไทยต่อโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง สปป.ลาว ซึ่งมีประเด็นสำคัญ 8 ประเด็น เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านอุทกวิทยาและชลศาสตร์ ระดับน้ำขึ้น-ลงอย่างฉับพลันและช่วงเวลาไม่เป็นไปตามฤดูกาล ซึ่งมีผลกระทบเป็นอย่างมากต่อประเทศท้ายน้ำ การลดลงของปริมาณตะกอนที่มีผลต่อระบบนิเวศและธรณีสัณฐาน การศึกษาหาสาเหตุแม่น้ำโขงเปลี่ยนสี รวมถึงการประมงและทางปลาผ่านที่จะต้องศึกษาถอดบทเรียนของโครงการเขื่อนไซยะบุรี และการพิจารณาจัดตั้งกองทุนชดเชยและมาตรการบรรเทาผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้ชัดเจน
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เมื่อผ่านความเห็นชอบกับร่างท่าทีประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้แล้ว จะนำไปสู่การกำหนดเป็นท่าทีประเทศไทยเสนอ สปป.ลาว พิจารณา โดยผ่านสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กรณีการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบางตามลำดับต่อไป
ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า คณะทำงานเฉพาะกิจด้านการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งมีผู้ช่วยเลขาธิการ สนทช. เป็นประธานคณะทำงานฯ จะเร่งทบทวนข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการศึกษาไว้แล้ว โดยเฉพาะโครงการศึกษาผลกระทบและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 – 2561 มาวิเคราะห์ให้รอบด้าน เพื่อนำไปสู่มาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหา รวมถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมอย่างมีประสิทธิภาพโดยเร่งด่วนต่อไป.-สำนักข่าวไทย