สธ.21มี.ค.-“อนุทิน” น้ำตาคลอขอคนไทย ร่วมป้องกันโควิด-19 หยุดกิจกรรม เสี่ยงช่วยชาติ แจงการปิด กทม.เป็นการลดจำนวนผู้ป่วยส่งออก ไปต่างจังหวัด หลังตัวเลขผู้ป่วยเป็นคนกรุงถึงร้อยละ 80 ขณะที่อดีต รมว.สธ.เชื่อตัวเลขผู้ป่วยยังคงสูงไปอีก 3-4 วัน แต่หากคนไทยร่วมใจมีวินัย มีระยะห่างทางสังคมที่เหมาะสม ทำได้ภายใน 7 วัน ตัวเลขผู้ป่วยอาจลดลง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ร่วมกับ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กระทรวงกลาโหมและผู้เชี่ยวชาญ ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ ห่วงประชาชนถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 และขอให้มั่นใจการทำงานกระทรวงสาธารณสุข การทำงานจากนี้เน้นการแชร์ข้อมูลและทรัพยากรร่วมกัน โดยขอให้ประชาชน ร่วมกันมีระยะห่างทางสังคม อย่างน้อย1-2 เมตร เพื่อความปลอดภัย และร่วมกันควบคุมโรค
นายอนุทิน ย้ำด้วยว่า การปิด กทม.ไม่ใช่ปิดเมือง แต่เป็นการปิดและควบคุมโรค ควบคุมพื้นที่ ซึ่งเป็นการหารือเมื่อวานนี้ (21 มี.ค.)และยังเป็นโมเดลในอนาคต ให้กับทุกจังหวัด เนื่องจาก กทม.เป็นพื้นที่พบคนป่วยถึงร้อยละ80 และแต่เดิมในพื้นที่ กทม.เป็นพื้นที่นำเข้าผู้ป่วยจากต่างประเทศ และหากปล่อยไว้ กทม.ก็กลายเป็นพื้นที่ส่งออกคนป่วยไปต่างจังหวัด ฉะนั้นคนที่ป่วยต้องหยุดอยู่กับบ้าน ลดการแพร่เชื้อไม่ออกไปในพื้นที่เสี่ยง ทำกิจกรรมนอกบ้านให้น้อยที่สุด ทุกคนต้องร่วมกันปรับพฤติกรรมสร้างวินัย เชื่อว่า 2-3 สัปดาห์สถานการณ์น่าจะเริ่มดีขึ้น ท่าทุกคนร่วมมือกัน
ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและในฐานะที่ปรึกษาที่ปรึกษาคณะกรรมการ โรคติดต่ออุบัติใหม่ กล่าวว่า เชื่อแนวโน้มผู้ป่วยที่พบในขณะนี้ ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และไม่ลดลงใน 3-4 วัน แต่หากประชาชนร่วมมือจริงจังปรับพฤติกรรม มีระยะ ห่างทางสังคม ตัวเลขผู้ป่วยจะลดแน่ภายใน 7 วัน ขอให้อดทน ร่วมกันฝ่าวิกฤตินี้ วินัยในตนเองในการควบคุมโรค คือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม บุคลากรทางการแพทย์จะทำงานของตนเองอย่างเต็มที่ แต่ประชาชน ต้องร่วมกันช่วยกัน มีระยะห่างทางสังคม ไม่เป็นในสถานที่เสี่ยงแออัด และไม่แพร่โรค ต้องหยุดตัวเองเมื่อป่วย
ขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากโรงแรมบางกอกพาเลส ให้จัดเตรียมสถานที่ห้องพัก 350 ห้องไว้ รองรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ซึ่งก็จะช่วยแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลไว้สำหรับผู้ป่วยหนัก ให้ได้จำเป็นต้องใช้โรงพยาบาล คนอาการไม่หนักรุนแรง สามารถอยู่ในโรงแรมได้
นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การทำงานของแพทย์ทุกสถาบันจะร่วมมือกัน นำหลักวิชาการมาใช้ ดูแลผู้ป่วย ย้ำทุกคนต้องช่วยกัน ปฏิบัติตัวให้เหมาะสมกับภาวะวิกฤตนี้ การอยู่บ้านไม่แพร่เชื้อ คือการช่วยชาติ การหลุดรอดของผู้ป่วยที่ไม่มีความระมัดระวังตนเองหรือรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการกักตัว 14 วัน แต่ยังมีชีวิตปกติก็อาจทำให้เกิดการสูญเสียกับบางครอบครัว ทั้งนี้ ทุกคนต้องทำ มีวินัย และรับผิดชอบ จึงจะสู้กับกับโควิด-19 ได้
นพ.ไพจิตร์ วราชิต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่รัฐบาลมีการสั่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เวลาเกิดโรคมี 2ส่วน คือ1.การควบคุมป้องกันโรค พบเชื้อก็ให้อยู่ในพื้นที่ โดยมีการเตรียมพร้อม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ อสม.เป็นหลักในการคุมผู้ป่วย และกลุ่มเสี่ยงให้อยู่ในพื้นที่ รักษาระยะห่างระหว่างกัน และ2.การรักษาพยาบาลได้มอบให้ผู้ตรวจราชการ หากจังหวัดไหนพบป่วยจำนวนมากก็จะส่งทรัพยากรไปให้ในจังหวัดที่มีผู้ป่วยน้อยไปให้ เป็นต้น ตนไม่ห่วงการป่วยในต่างจังหวัด เพราะหากพบก็จัดการได้ง่าย วันนี้การร่วมกันหารือ จึงเป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้อยากให้ความเชื่อมั่นว่าผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นเหมือนรวดเร็วจริงๆแล้วเรามีการวิเคราะห์ไว้หมดแล้ว .-สำนักข่าวไทย