กรุงเทพฯ 21 มี.ค.- หุ้นดิ่ง –บาทอ่อน นักลงทุนรอดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสกัดกั้น COVID-19 คาดสัปดาห์หน้า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,100 และ 1,070 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,140 และ 1,165 จุด ตามลำดับ
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับสัญญาณเงินทุนไหลออก ทั้งในส่วนของตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และตลลาดยังกังวลต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยจากความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 15 เดือนที่ 32.74 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะลดช่วงอ่อนค่าลงได้บางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางสกุลเงินในภูมิภาค โดยได้รับอานิสงส์บางส่วนจากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกประชุมฉุกเฉินเพื่อลดดอกเบี้ย และออกมาตรการด้านสภาพคล่องบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19
ในวันศุกร์ (20 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.55 เทียบกับระดับ 31.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (13 มี.ค.)
ด้าน ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,127.24 จุด ลดลง 0.15% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 69,826.41 ล้านบาท ลดลง 26.01% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.47% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 226.36 จุด
ตลาดหุ้นไทยร่วงลงช่วงต้นสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก หลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 และ ดัชนีฯ ฟื้นตัวกลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์ ตามแรงหนุนของหุ้นขนาดใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน รวมถึงขานรับการเร่งออกมาตรการฉุกเฉินของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก ทั้งการปรับลดดอกเบี้ยและอัดฉีดสภาพคล่อง
สัปดาห์ถัดไป (23-27 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.30-32.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,100 และ 1,070 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,140 และ 1,165 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุม คณะกรรมการนโยบายยการเงิน (กนง.) ตัวเลขส่งออกเดือน ก.พ. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และความคืบหน้าเกี่ยวกับกองทุนพยุงหุ้นของไทย ตลอดจนมาตรการรับมือกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และทิศทางราคาน้ำมันโลก ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/62 ยอดขายบ้านใหม่และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ. รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนมี.ค. (เบื้องต้น) ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและยูโรโซน
-สำนักข่าวไทย