กรุงเทพฯ 20 มี.ค. – อธิบดีกรมชลประทานระบุสำรองน้ำภาคเกษตรกรณีฝนทิ้งช่วง เพื่อไม่ให้ข้าวนาปีเสียหาย รวมทั้งจะผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริม วันที่ 1 เม.ย. พร้อมส่งน้ำให้ทุ่งบางระกำเหลื่อมเวลาทำนา ส่วนพื้นที่อีอีซีมีน้ำเพียงพอใช้ทุกภาคส่วนแน่นอน ด้านอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาชี้พายุฤดูร้อนเพิ่มปริมาตรน้ำธรรมชาติ ตลอดจนระบบชลประทาน ทำให้สถานการณ์ภัยแล้วบรรเทาลง
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้หน่วยงานด้านน้ำเร่งช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบของสถานการณ์ภัยแล้งต่อเกษตรกรและประชาชนให้มีน้อยที่สุด ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน 2563 ต่อเนื่องจากแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งให้สอดคล้องกับการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ว่าปริมาณฝนปีนี้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 5-10 โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 10
ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำชับให้ดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 10 มีนาคม ในการส่งน้ำให้ทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลกและสุโขทัย เพื่อเหลื่อมเวลาทำนา โดยจะส่งน้ำเข้าระบบชลประทานตั้งแต่ 15 มีนาคม จากนั้นวันที่ 1 เมษายน เกษตรกรนำน้ำไปปลูกข้าวได้เลย ในฤดูฝนนี้จะจัดสรรน้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ส่งให้ทุ่งบางระกำได้ 265,000 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 382,000 ไร่ โดยบริเวณที่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำได้คือ บริเวณที่ดอนประมาณ 100,000 ไร่ ปริมาตรน้ำรวม 310 ล้านลบ.ม. เพื่อที่เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวข้าวได้ทันก่อนน้ำหลาก อีกทั้งใช้ทุ่งบางระกำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำในช่วงเดือนก.ย. ถึงต.ค. ซึ่งจะมีฝนตกชุก ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างนั้น มีน้ำไม่เพียงพอส่งให้เพื่อเหลื่อมเวลาทำนาเหมือนปีที่ผ่านมา จึงขอให้เกษตรกรรอฝนตกต้องตามฤดูกาลจึงค่อยเพาะปลูก แต่ได้สำรองน้ำช่วยเหลือกรณีฝนทิ้งช่วงไม่ให้พืชผลเสียหาย
ล่าสุดคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) อนุมัติให้กรมชลประทานผันน้ำจากลุ่มแม่กลองมาเสริมลุ่มเจ้าพระยาในฤดูแล้งนี้อีก 500 ล้านลบ.ม. จากเดิมมีแผนผันมา 500 ล้านลบ.ม. ดังนั้นในฤดูแล้งนี้จะผันน้ำจากลุ่มแม่กลองมารวม 1,000 ล้านลบ.ม. เนื่องจากระยะทางที่สูบผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยายาวกว่า 100 กิโลเมตรจึงมีการสูญเสียน้ำจากระบบ จึงต้องะนำน้ำมาเติมให้เพียงพอ ส่วนในฤดูฝน กรมชลประทานคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำในลุ่มเจ้าพระยา ณ วันที่ 1 พฤษภาคม อยู่ที่ปริมาตร 2,077 ล้าน ลบ.ม. จึงวางแผนการจัดการน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคมถึง 31 กรกฎาคม ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน อีกทั้งจะผันน้ำจากลุ่มแม่กลองมาเสริม 350 ล้าน ลบ.ม. เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา กรณีฝนทิ้งช่วง
นายทองเปลว กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งได้ทำโครงการสูบผันน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรีมายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ. ระยอง เพื่อช่วยไม่ให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ต่ำกว่าปริมาณเก็บกักต่ำสุดในเดือนเมษายนนั้น สูบมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม จะสูบจนถึง 25 มีนาคม รวม 10 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันสูบมาแล้ว 7.088 ล้าน ลบ.ม. และโครงการสูบผันน้ำอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรมายังอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี เพื่อระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงฯ ไปยังสถานีสูบน้ำพานทอง แล้วสูบผันต่อไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ 3 ล้าน ลบ.ม. เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม ปัจจุบันน้ำถึงอ่างเก็บน้ำบางพระแล้ว 167,410 ลบ.ม. อีอีซีมีความต้องการใช้น้ำวันละ 1.4 ล้านลบ.ม. ซึ่งทาง กนช.มีความเห็นให้ ลดปริมาตรการใช้น้ำลงร้อยละ 10 ทั้งนี้ ยืนยันว่าน้ำจะเพียงพอใช้ทั้งในการอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรม เกษตรต่อเนื่อง และรักษาระบบนิเวศน์จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้
“คณะรัฐมนตรีสั่งการทุกหน่วยงานรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า อีกทั้งปฏิบัติตามแผนบริหารจัดการน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด จะทำให้มีน้ำเพียงพอใช้ในทุกกิจกรรมที่จำเป็นอย่างแน่นอน” นายทองเปลว กล่าว
ด้าน น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ตั้งแต่เข้าสู่ฤดูร้อนเกิดพายุฤดูร้อน 3 ครั้งทำให้มีฝนตกภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่าง จึงมีน้ำไหลสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและระบบชลประทานเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 20 -23 มีนาคม จะมีพายุฤดูร้อนอีกครั้ง คาดว่าจะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ซึ่งได้แจ้งกรมชลประทานให้เตรียมเก็บกักน้ำจากฝนที่จะตกลงมาเพื่อเสริมปริมาตรน้ำต้นทุนและสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนทั่วประเทศว่า จะไม่ขาดแคลนน้ำ.-สำนักข่าวไทย