กทม.18 มี.ค.-ผู้ว่าฯ กทม.ปลุกใจชาวกรุงตระหนักแต่ไม่ตระหนก ฝ่าวิกฤตโควิด-19 พร้อมเข้าใจสาเหตุการประกาศใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อหยุดกิจกรรมของสถานที่รวมคนจำนวนมาก แม้มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กผู้ว่าฯอัศวิน ถึงวิกฤตโรคโควิด-19 โดยมีข้อความว่า
“สวัสดีครับ พี่น้องชาวกรุงเทพมหานคร วันนี้ผมขอพูดคุยกับทุกท่านถึงวิกฤตที่พวกเราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ คือวิกฤต COVID-19 จำนวนผู้ป่วย COVID-19 ในปัจจุบันเริ่มมีการเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการชัดเจน จึงสามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้รวดเร็ว และสิ่งที่สำคัญคือเมื่อมีการรวมตัวของคนจำนวนมาก เชื้อไวรัสจะสามารถแพร่ไปยังคนที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อได้ทีละหลายคนนั้น คือสาเหตุที่ กทม.ต้องออกมาตรการต่างๆ ในการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายในวงกว้าง เช่น การยกเลิกจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ การทำความสะอาดสถานที่สาธารณะที่ใช้ร่วมกัน และการให้ทุกคนช่วยกันคัดกรองผู้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อนี้
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าในช่วงแรก กทม.จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ แต่ปัจจุบันอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อมีมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งในช่วงหลังผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่จะติดเชื้อจากการไปสถานที่ที่มีคนอยู่กันหนาแน่น มากกว่าการติดเชื้อของผู้ใกล้ชิดกับคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ
ดังนั้น ผมจึงขอใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ข้อ 35 (1) สถานที่ซึ่งผู้คนมีการรวมตัวเบียดเสียดใกล้ชิด และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อง่ายทางปาก (ตะโกน เชียร์) สัมผัสถูกเนื้อต้องตัวหรือใช้สิ่งของร่วมกันง่าย โดยเริ่มจาก
1.สนามมวย
2 สถานบริการ เช่น ผับ บาร์
3.กิจการ อาบอบนวด
4.สถานที่อาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร
5.กิจการโรงมหรสพ
6.สถานที่ออกกำลังกายที่เป็นพื้นที่ปิด
และขอความร่วมมือจากทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน ให้ยกเลิกกิจกรรมที่จัดให้คนจำนวนมากมารวมตัวกัน ส่งเสริมค่านิยมการเว้นระยะ 1 – 2 เมตร และที่สำคัญคือ หมั่นล้างมืออย่างถูกวิธี
ผมเข้าใจดีว่า การที่เราหยุดกิจกรรมต่าง ๆ อาจทำให้คุณค่าทางเศรษฐกิจเสียหาย แต่ขอให้เราคำนึงถึงคุณค่าของชีวิตมาก่อน เพราะถ้าเราทุกคนสามารถผ่านสถานการณ์ได้ เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
สุดท้ายนี้ สิ่งที่ผมออกมาพูดกับทุก ๆ ท่านในวันนี้ ไม่ต้องการให้ทุก ๆ ท่าน ตื่นตระหนก แต่พวกเราทุกคนต้องอยู่ด้วยความตระหนัก เพราะความตระหนักคือทางเดียวที่เราจะแก้ไขปัญหานี้ได้ และผมเชื่อว่า เราจะสามารถฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
นอกจากนี้ผู้ว่าฯกทม.ยังโพสต์อีกข้อความว่า อีกหนี่งมาตรการสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คือ การกักตัวในที่พักอาศัยเพื่อกักกันโรค หรือ Home Quarantine เป็นเวลา 14 วัน ในกลุ่มของผู้ที่เข้าข่ายติดเชื้อสูง ได้แก่ ผู้ที่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ และผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ซึ่งคน 2 กลุ่มนี้ อาจจะมีอาการหรือไม่มีอาการป่วยในทันที แต่ถือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง และจะต้องทำการกักตัวในที่พักอาศัย เพื่อสังเกตอาการของโรค ซึ่งกทม.มีข้อแนะนำการปฏิบัติตัวมาฝากครับ
ในสถานการณ์การระบาดที่ขยายวงกว้างมากขึ้น เราต้องร่วมมือกันครับ เพราะถือเป็นการรับผิดชอบต่อตนเองและต่อสังคม เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ไปสู่คนในครอบครัวและคนอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ในระยะนี้ และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการไปตรวจค้นหาโรคด้วยครับ แต่หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ หรือแจ้งศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ในพื้นที่ทันทีครับ .-สำนักข่าวไทย