กรุงเทพฯ 17 มี.ค. – กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารยืนยันคนไทยมีอาหารเพียงพอ สำหรับบริโภคในประเทศและเหลือส่งออก
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการตื่นสะสมสินค้ากลุ่มอาหารของประชาชนในช่วงนี้ โดยมีการเข้าไปสะสมสินค้ากลุ่มอาหารจำนวนมากตามห้างค้าปลีกขนาดใหญ่และร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ จนสินค้าที่วางขายหมดในเวลาอันรวดเร็วนั้น การไปซื้อสินค้าพร้อมกัน ทำให้พนักงานเติมสินค้าไม่ทัน แต่กำลังการผลิตของโรงงานต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมอาหารประเทศไทยยังมีเพียงพอและเหลือเฟือ โดยพิจารณาจากอัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วงปีที่ผ่านมากว่าร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตที่มีทั้งหมดเท่านั้น สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารยังสามารถรองรับได้ เพราะยังเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกจนเต็มศักยภาพการผลิต ดังนั้น ขอยืนยันว่าปัญหาการขาดแคลนสินค้ากลุ่มอาหารในประเทศไทยไม่เกิดขึ้นแน่นอน
ด้านราคาของสินค้าที่มีการสะสมกันมาก หากพิจารณาแล้วจะพบว่าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่อยู่ในกลุ่มสินค้าควบคุมที่กรมการค้าภายในดูแลราคาขาย การจะปรับราคาขายได้จะต้องได้รับการอนุมัติจากกรมการค้าภายในก่อน ทั้งในส่วนโรงงานผู้ผลิตและผู้นำมาขายต่อจนถึงมือประชาชน ตัวอย่างของสินค้าที่คนไทยมักเลือกสะสมเอาไว้ เช่น บะหมี่สำเร็จรูป ซึ่งต่างจากบางประเทศที่ประชาชนมักสะสมกระดาษชำระ โดยปัจจุบันโรงงานผลิตบะหมี่สำเร็จรูปในประเทศไทย มีกำลังการผลิตรวมกันวันละ 10 ล้านซอง และหากความต้องการเพิ่มขึ้นก็ยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็นวันละ 15 ล้านซองได้ จึงมีปริมาณเหลือเฟือ โดยผู้ผลิตมีสตอกวัตถุดิบไว้ 3- 6 เดือน
สินค้ากลุ่มอาหารอื่น ๆ มีปัญหาบ้าง คือ กลุ่มพืชที่การปลูกต้องใช้น้ำดูแลจำนวนมาก เพราะขณะนี้ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้ง เช่น การปลูกข้าวได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเช่นกัน คาดว่าปีนี้การส่งออกข้าวของไทยจะลดลงเล็กน้อย โดยยอดส่งออกจะทำได้ประมาณ 7.5 ล้านตันจากปีที่ผ่านมาส่งออกได้ 8 ล้านตัน ด้านการบริโภคข้าวในประเทศโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ปีละประมาณ 10 ล้านตัน หากไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศสามารถปรับลดยอดส่งออกข้าวลง แล้วนำมาใช้บริโภคในประเทศเพิ่มเติมได้อีก ดังนั้น เรื่องข้าวไม่น่าห่วงเลย
สินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์ก็ไม่น่าเป็นห่วงเช่นกัน เนื่องจากไม่มีผลกระทบจากภัยแล้งมากนัก และผู้เลี้ยงสัตว์ก็มีประสบการณ์ผ่านการการแก้ไขสถานการณ์โรคติดต่อในสัตว์ได้เป็นอย่างดี ทั้งไข้หวัดนกในไก่ อหิวาต์โรคในสุกร ได้รับการแก้ไขมาแล้ว ทำให้ปีที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถส่งออกไปยังประเทศที่ประสบปัญหาโรคระบาดได้ ด้านผลไม้ปีนี้ แม้เผชิญภัยแล้ง แต่ผลผลิตในภาพรวมไม่ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าผลผลิตเช่น ทุเรียน เงาะและลองกอง ผลผลิตจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์ ถือว่าโชคดี เนื่องจาก 2 เดือนที่ผ่านมาที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน ผลไม้ยังไม่พร้อมเก็บเกี่ยวและส่งออก แต่ขณะนี้จีนสามารถควบคุมโรคได้แล้ว จึงจะเปิดตลาดมากขึ้น พอดีกับช่วงที่ผลไม้ไทยก็พร้อมจะส่งออกไปขายที่จีนได้
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า คนไทยและนักท่องเที่ยวบริโภคอาหารรวมกัน คิดเป็นมูลค่าปีละประมาณ 2 ล้านล้านบาท ปีนี้แม้มีสถานการณ์นักท่องเที่ยว มีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง การบริโภคอาหารในกลุ่มนักท่องเที่ยวลดลงตาม ผู้ประกอบการก็สามารถปรับมาขายคนในประเทศได้แต่ค่าบริการจะลดลงไปบ้าง บวกกับมีการตื่นสะสมสินค้ากลุ่มอาหารของประชาชนเพิ่มมากขึ้น จึง เชื่อว่ายอดบริโภคสินค้ากลุ่มอาหารในประเทศ จะยังคงอยู่ในระดับประมาณ 2 ล้านล้านบาทเช่นเดิม หรือเสมอตัวเท่า ๆ กับปีที่ผ่านมา
ด้านการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารในภาพรวมที่มียอดแต่ละปีประมาณ 1 ล้านล้านบาท ปกติส่งออกเติบโตร้อยละ 3 – 5 มาโดยตลอด ปีนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นอานิสงส์ด้านบวกและส่งผลดีต่อเกษตรกรในประเทศ ที่เดิมมีผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า แต่ขณะนี้แนวโน้มเงินบาท เริ่มอ่อนค่า ขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยเริ่มกลับมาดีขึ้น รายได้ของอุตสาหกรรมอาหารส่งออกและเกษตรกร ก็มีโอกาสที่จะปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย
“ปีที่ผ่านมาผู้ผลิตยังไม่ทันผลิตสินค้ากลุ่มอาหารเพื่อส่งออกต่างก็ทราบว่าจะขาดทุน แต่ปีนี้สถานการณ์ดีขึ้น และยังมีโอกาสลุ้นว่าอาจจะทำกำไรได้อีกด้วย ” นายวิศิษฐ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย