กรุงเทพฯ 6 พ.ย. – สภาผู้ส่งออกปรับคาดการณ์ส่งออกปีนี้ขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8 ส่วนปี 61 โตร้อยละ 5 อานิสงส์การค้าโลกฟื้น พร้อมจับตานโยบายประธานเฟดคนใหม่
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) กล่าวว่า สภาผู้ส่งออกฯ ปรับประมาณการส่งออกปีนี้เป็นโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8 จากเดิมร้อยละ 6 ส่วนปีหน้าโตร้อยละ 5 โดยมีปัจจัยบวกจากการค้าระหว่างประเทศทั่วโลกปรับดีขึ้น เช่น จีน ญี่ปุ่น อาเซียน และออสเตรเลีย ลาตินอเมริกา ที่พลิกกับมาโตช่วงปลายไตรมาส 3 สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของสินค้าที่ขนส่งทางทะเลและทางอากาศระหว่างประเทศช่วงที่ผ่านมา และการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เหล็ก น้ำตาลทราย ยางพารา และผลิตภัณฑ์ เป็นต้น โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นในด้านราคาและความต้องการสินค้า เพื่อนำไปผลิตต่อของประเทศคู่ค้า อีกปัจจัยบวก คือ การสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าของสหรัฐที่เพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมต้อนรับเทศกาล thanksgiving ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้
ส่วนปัจจัยลบที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย คือ นโยบายประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คนใหม่ โดยเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อค่าเงินบาทให้แข็งค่า การใช้มาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐและจีน เช่น นโยบาย buy America Safeguard-Anti dumping รวมถึงความไม่พร้อมของไทยในการปฏิบัติตามข้อกำหนด Trade Facilitation Agreement ซึ่งจะส่งผลระยะยาวต่อการส่งออกของไทย การเคลื่อนย้ายแรงงานและการสร้างตลาดแรงงานที่มีคุณภาพต่อการผลิต และสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลี ภายหลังรัสเซียปฏิเสธการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือของสหรัฐ
สำหรับข้อเสนอแนะ คือ รัฐบาลควรมีการกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ประกอบกับใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อสกัดไม่ให้เงินทุนไหลเข้าในประเทศมากเกินไป ด้านการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวพันกับกฎหมายหลายฉบับทั้งในและต่างประเทศอาจส่งผลกระทบภาคธุรกิจ ดังนั้น ควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมออกกฎหมายและแก้ไขปรับปรุง รัฐบาลต้องอำนวยความสะดวกทางการค้า ลดขั้นตอนที่เป็นต้นทุนทางการค้าและช่วยให้การค้าในระบบอี-คอมเมิร์ซขยายตัวมากขึ้น สุดท้ายต้องให้ความสำคัญกับการเร่งรัดเจรจาการค้าเสรีทั้งที่มีอยู่ให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิ์ประโยชน์ให้เต็มที่และได้รับกรอบอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างเจรจา
ส่วนการส่งออกเดือนกันยายนปีนี้ มีมูลค่า 21,812 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 12.2 ขยายตัวระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน และสูงสุดในรอบ 56 เดือน โดยการส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 720,176 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้มียอดส่งออกรวม 175,435 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รูปเงินบาทในช่วง 9 เดือนแรกมีมูลค่า 6,001,376 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน. – สำนักข่าวไทย