เชียงใหม่ 13 มี.ค.- ผู้ว่าการ รฟม.รับสถาบันการเงินจีน พร้อมจับมือเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (เชียงใหม่) (โรงพยาบาลนครพิงค์–แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) ขณะที่หอการค้าฯ หนุนก่อสร้างพร้อมกัน 3 สายต่อลมหายใจสร้างงาน ดันเศรษฐกิจ ที่วิกฤติหนักจากไวรัสโควิด-19 ระบาด
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ตามที่ รฟม. ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเมือง ทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนเมืองหลักในภูมิภาค 4 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา และภูเก็ต ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของแต่ละโครงการ
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าในเมืองภูมิภาคที่ รฟม.ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการนั้น ได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์–แยกแม่เหียะสมานสามัคคี วงเงินลงทุนโครงการ 27,000 ล้านบาท ระยะทาง 15.8 กิโลเมตร (กม.) มีจำนวนสถานีทั้งหมด 16 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับพื้นดิน 9 สถานี และสถานีใต้ดิน 7 สถานี โดยมีรูปแบบเป็นระบบรถรางไฟฟ้า (LRT/Tram) ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา ซึ่งตามแผนงานเมื่อการศึกษาออกแบบแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2563 จากนั้นจะเสนอรายงานผลการศึกษา พ.ร.บ.ร่วมทุน (PPP) ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในปีนี้ และคาดว่าจะสามารถนำเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการจาก ครม. ประมาณกลางปี 2564 เริ่มก่อสร้างภายใน มี.ค. 2565 โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปลายปี 2570
สำหรับโครงการดังกล่าว จะให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) สัญญาสัมปทาน 30 ปี โดยมีมูลค่าโครงการ 27,000 ล้านบาทนั้น แบ่งเป็น ค่าเวนคืนที่ดิน และค่างานโยธา ที่รัฐบาลจะลงทุนประมาณ 80% ของมูลค่าโครงการฯ หรือวงเงิน 17,000 ล้านบาท และเอกชนลงทุนค่างานระบบรถไฟฟ้า 20% ของมูลค่าโครงการฯ หรือวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยอัตราผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) จะอยู่ที่ประมาณ 13% ขณะที่ ปริมาณผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการนั้น คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 16,000 คนในปีแรกที่เปิดให้บริการ โดยชั่วโมงเร่งด่วนจะมีผู้โดยสาร 1,200 คน/ชั่วโมง และเพิ่มขึ้นเป็น 42,300 คนในปี 2600 ในส่วนของอัตราค่าโดยสารนั้น เบื้องต้นจะเริ่มต้นที่ 15-30 บาทต่อคนต่อเที่ยว
“ในส่วนของปัญหาการดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดงที่กังวลนั้น มี 2 เรื่อง คือ 1.การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและการส่งมอบพื้นที่ 2.การรื้อย้ายสาธารณูปโภคใต้ดิน แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามแผน เพราะได้รับความร่วมมือจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งในส่วนของการทำความเข้าใจกับผู้ที่ถูกเวนคืน รวมไปถึงการอนุรักษ์เมืองระดับโลก ซึ่งทุกอย่างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน” นายภคพงศ์ กล่าว
นายภคพงศ์ กล่าวต่ออีกว่า จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นความสนใจของนักลงทุนเอกชน (Market Sounding) นั้น เบื้องต้นพบว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการธนาคาร และนักธุรกิจท้องถิ่นให้ความสนใจลงทุนโครงการดังกล่าว ขณะที่กลุ่มธนาคารจากประเทศจีน ให้ความสนใจในการสนับสนุนด้านของแหล่งเงินทุนด้วย ขณะที่ นักลงทุนเอกชนจากต่างประเทศนั้น จะลงทุนในส่วนซัพพลายเออร์ และงานระบบ ในด้านของการเดินรถนั้น จะเป็นนักลงทุนท้องถิ่น เนื่องจากเป็นสัญญาที่มีระยะเวลายาว คล้ายกับการเดินรถรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์จะเป็นการเพิ่มอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน มีความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงสามารถลดการใช้รถยนต์โดยรวมบนท้องถนน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ได้อีกด้วย .-สำนักข่าวไทย