นิวยอร์ก 25 ก.ค.-ทูตไทยเตรียมแถลงข้อเท็จจริง UNSC ประชุมฉุกเฉิน 25 ก.ค. ส่งหนังสือแจงนานาชาติ ก่อนเตรียมแจงในที่ประชุม ยันกัมพูชาวางทุ่นระเบิดและเปิดฉากยิงใส่ฐานทหารไทยที่ตาเมือนธม จ.สุรินทร์ ของไทยก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติได้ดำเนินการในส่วนของไทยทันที หลังเกิดเหตุปะทะที่ชายแดนไทย-กัมพูชา วานนี้ (24 ก.ค.)โดยมีการส่งหนังสือออกไป 3 ฉบับ ฉบับแรกเป็นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อตอบโต้ข้อกล่าวอ้างของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาจากไทย ให้กับนายอาซิม อิฟติคาร์ อาหมัด เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรปากีสถานประจำสหประชาชาติ ในฐานะประธาน UNSC ในปัจจุบัน พร้อมกันนี้ยังได้ส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้คณะผู้แทนถาวรของสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมดรับทราบด้วย
ขณะเดียวกัน คณะผู้แทนถาวรไทยยังได้ส่งหนังสือไปถึงนายอันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อแจ้งเหตุการละเมิดอนุสัญญาออตตาวา ซึ่งเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ เก็บสะสม ผลิต และถ่ายโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และการทำลายทุ่นระเบิดดังกล่าว ต่อกรณีที่ทหารไทยเหยียบกับระเบิดจนขาขาดในวันที่ 16 และ 23 กรกฎาคม ซึ่งทุ่นระเบิดที่พบเป็นของที่เพิ่งถูกวางใหม่ และยังมีการเกิดเหตุซ้ำแม้ว่าไทยจะมีการเก็บกู้ทุ่นระเบิดไปก่อนหน้านี้หลังเกิดเหตุครั้งแรกแล้วก็ตาม จึงขอให้มีการดำเนินการสอบสวนตามข้อกำหนดในอนุสัญญา และขอให้กัมพูชาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในดินแดนไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ UNSC จะจัดให้มีการประชุมฉุกเฉินแบบที่เรียกว่า private meeting ซึ่งเป็นการประชุมปิดที่ใช้เวลาราว 15 นาที โดยจะมีเพียง 15 ชาติสมาชิกของ UNSC ร่วมกับผู้แทนถาวรไทยและกัมพูชาเข้าชี้แจงและกล่าวแถลงการณ์ของแต่ละประเทศในเวลา 15.00 น. วันที่ 25 กรกฎาคมนี้ ตามเวลาในนครนิวยอร์ก หรือเวลา 02.00 น. ของวันที่ 26 กรกฎาคม ตามเวลาในไทยต่อไป ซึ่งในส่วนของไทย นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ จะเป็นผู้เข้าร่วมประชุมดังกล่าว
สำหรับหนังสือของคณะผู้แทนถาวรแห่งราชอาณาจักรไทยประจำสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ระบุว่า คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติขอแสดงความเคารพอย่างสูงต่อคณะผู้แทนถาวรและคณะผู้สังเกตการณ์ถาวรประจำสหประชาชาติ และขอแจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์อันร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย อันเป็นผลจากการรุกรานทางทหารของประเทศกัมพูชา โดยมีรายละเอียดต่อไปนี้
1.เมื่อวันที่ 16 และ 23 กรกฎาคม 2025 ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารไทยกำลังลาดตระเวนตามเส้นทางปกติที่กำหนดไว้ ซึ่งอยู่ภายในอาณาเขตของประเทศไทย ทหารได้เหยียบทุ่นระเบิดชนิด PMN-2 ส่งผลให้ทหาร 2 นาย ได้รับบาดเจ็บอย่างสาหัสส่งผลถึงขั้นพิการถาวร ขณะที่ทหารนายอื่นๆ ก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส จากการตรวจสอบพบว่าทุ่นระเบิด PMN-2 ทั้งหมดที่พบอยู่ในสภาพใหม่ ยังมีเครื่องหมายที่มองเห็นได้ชัดเจน หลักฐานบ่งชี้ว่าทุ่นระเบิดเหล่านี้เพิ่งถูกวางใหม่
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ไทยได้ยื่นรายงานประจำปีเกี่ยวกับความโปร่งใสในการดำเนินการตามพันธกรณีในอนุสัญญาดังกล่าว ตามมาตรา 7 ของอนุสัญญาอย่างต่อเนื่อง รายงานดังกล่าวได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าประเทศไทยได้ทำลายทุ่นระเบิดในคลังทั้งหมดแล้วตั้งแต่ปี 2003 และต่อมาได้ทำลายทุ่นระเบิดทั้งหมดที่เก็บไว้เพื่อการฝึกอบรมและการวิจัยในปี 2019 ในทางตรงกันข้าม รายงานล่าสุดของประเทศกัมพูชาระบุว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2024 กัมพูชายังคงเก็บรักษาทุ่นระเบิดชนิด PMN-2 ไว้
2.เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2025 เวลา 08.20 น. ทหารกัมพูชาได้เปิดฉากยิงใส่ฐานทหารไทยที่ตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ ประเทศไทย เป็นเหตุให้ทหารไทยได้รับบาดเจ็บทันที 2 นาย หลังจากนั้นไม่นาน กองทัพกัมพูชาได้เปิดโจมตีอย่างไม่เลือกหน้าต่อดินแดนของประเทศไทยใน 4 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
การกระทำที่ก้าวร้าว ไม่เลือกเป้า และขัดต่อกฎหมายต่อพลเรือนไทยเหล่านี้ ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงและนำไปสู่การสูญเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์อย่างน่าเศร้า ซึ่งรวมถึงผู้หญิงและเด็ก โครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน รวมถึงโรงพยาบาล และโรงเรียนก็ได้รับความเสียหายอย่างมากเช่นกัน
ณ เวลา 14.00 น. ของวันที่ 24 กรกฎาคม 2025 การโจมตีดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 11 ราย และบาดเจ็บ 24 คน ในจำนวนนี้ 8 คนอาการสาหัส มีประชาชนมากกว่า 102,000 คน ต้องอพยพออกจากบ้านเรือนของตน
3.การโจมตีด้วยอาวุธอย่างต่อเนื่องโดยปราศจากการยั่วยุใดๆ ของกองทัพกัมพูชา ถือเป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อมาตรา 2(4) ของ กฎบัตรสหประชาชาติ รวมถึงหลักการแห่งความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างรัฐอย่างชัดเจน ประเทศไทยได้ใช้ความอดกลั้นและยับยั้งชั่งใจอย่างที่สุด ต่อการโจมตีด้วยอาวุธซึ่งมีการเตรียมการล่วงหน้าโดยกัมพูชา แต่ถูกบังคับให้ใช้สิทธิในการป้องกันตนเองโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ
มาตรการในการป้องกันตนเองที่ไทยดำเนินการอยู่ในขอบเขตจำกัดเท่าที่จำเป็น และเหมาะสมกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้น โดยพุ่งเป้าไปที่การขภัยคุกคามที่กำลังจะเกิดขึ้นจากกองทัพกัมพูชาเท่านั้น
4.ประเทศไทยขอประณามอย่างรุนแรงต่อการโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมายของกัมพูชาต่อพลเรือน ทรัพย์สินของพลเรือน และสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 อย่างร้ายแรง โดยเฉพาะมาตรา 18 แห่งอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่หนึ่ง (ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บาดเจ็บและเจ็บป่วย – การคุ้มครองโรงพยาบาล) และมาตรา 19 แห่งอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 (ว่าด้วยการคุ้มครองหน่วยงานและสถานพยาบาล) การกระทำอันไร้มนุษยธรรมเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานและความยากลำบากแก่พลเรือนผู้บริสุทธิ์
5.ประเทศไทยยังคงยึดมั่นอย่างแน่วแน่ในหลักการยุติข้อพิพาทโดยสันติวิธี และปฏิเสธอย่างเด็ดขาดต่อการใช้กำลังเป็นเครื่องมือในการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศ
ประเทศไทยขอเรียกร้องต่อประชาคมระหว่างประเทศเรียกร้องให้กัมพูชายุติการใช้การสู้รบโดยทันที และกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาอย่างสุจริตใจ ประเทศไทยขอยืนยันอีกครั้งถึงความพร้อมในการเจรจาผ่านกลไกทวิภาคีที่มีอยู่แล้ว รวมถึงคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ซึ่งมีกำหนดการประชุมในช่วงต้นเดือนกันยายน 2025 เพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งที่ยังคงค้างอยู่.-312.-สำนักข่าวไทย