9 มี.ค.-ก.คมนาคม เข้มมาตรการสกัด “COVID-19” ด้าน กพท. ออกประกาศแนวทางปฏิบัติแอร์ไลน์ สั่งกักตัวผู้โดยสารเดินทางมาจาก 6 พื้นที่เสี่ยง พ่วงคัดกรอง-ตรวจใบรับรองแพทย์ งัดไม้แข็ง! งดออกตั๋วหากไม่มีโชว์ หวังบล็อกตั้งแต่ประเทศต้นทาง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคม เข้มมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นั้น ล่าสุด วันที่ 8 มี.ค. 2563 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ออกประกาศ กพท. เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศเกี่ยวกับการให้บริการจากท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ลงนามโดยนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท.
สำหรับ ประกาศ กพท. ดังกล่าว มีใจความสำคัญว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พร้อมทั้งกำหนดท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษมาเก๊า เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐอิตาลี และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เป็นเขตโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 นั้น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศในการปฏิบัติการบินระหว่างท้องที่ดังกล่าว และเพื่อสนับสนุนการดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคของประเทศ กพท. จึงประกาศแนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศเกี่ยวกับการให้บริการจากท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ดังต่อไปนี้
1.ในกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดท้องที่ เขตติดโรคจากเชื้อไวรัส COVID-19 ดังกล่าวนั้น ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากท้องที่นั้น ต้องได้รับการกักตัว และอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออย่างอื่นตามที่รัฐบาลกำหนด
2.ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศ (สายการบิน) ที่ให้บริการจากสถานีต้นทางในท้องที่ที่เป็นเขตโรคติดต่อฯ ทำการคัดกรองผู้โดยสารโดยในเวลาแสดงตัว เพื่อออกบัตรขึ้นครื่อง (Check in) โดยตรวจสอบใบรับรองแพทย์ เพื่อยืนยันว่าผู้โดยสารไม่มีความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อ COVID-19 หากผู้โดยสารไม่สามารถแสดงใบรับรองแพทย์ดังกล่าวได้ ให้งดการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) ให้แก่ผู้โดยสารนั้น
3.สายการบินอาจพิจารณาใช้มาตรการตามข้อ 2 ในการคัดกรองผู้โดยสารจากสถานีต้นทางในประเทศและเขตปกครองพิเศษที่มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข หรือองค์กรอนามัยโลก (WHO) ว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19
4.เมื่อได้ตรวจสอบใบรับรองแพทย์ และออกบัตรขึ้นเครื่องให้ผู้โดยสารแล้ว ให้สายการบินจัดให้ผู้โดยสารกรอกข้อมูลตามแบบ ต.8 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และยื่นต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินปลายทาง
5.เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ มีอำนาจออกคำสั่งตามตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ได้แก่ ห้ามผู้ใดเข้าไปในหรือออกจากอากาศยานที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งยังไม่ได้รับการตรวจจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อดังกล่าว รวมถึงห้ามนำพาหนะอื่นใดเข้าเทียบอากาศยานที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
นอกจากนี้ ให้ดำเนินการหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้สายการบินดำเนินการกำจัดความติดโรค เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ของโรค จัดให้อากาศยานจอดอยู่ ณ สถานที่ที่กำหนดให้ จนกว่าเจ้าพนักงานฯ จะอนุญาตให้ไปได้ อีกทั้ง ให้ผู้เดินทางซึ่งมากับพาหนะนั้น รับการตรวจในทางแพทย์ และอาจให้แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ณ สถานที่ และระยะเวลาที่กำหนด
6.สายการบินจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งผู้เดินทางซึ่งมากับอากายานนั้น เพื่อแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ตลอดทั้งออกค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู การรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
7.ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศแจ้งปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังโรคติดต่ออันตราย และมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตรายตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยเคร่งครัด
8.ให้สายการบินแจ้งแนวปฏิบัติดังกล่าว ให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานีต้นทางและเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานให้ทราบและถือปฏิบัติ รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานประกาศเพิ่มเติมบนอากาศยานให้ผู้โดยสารทราบ.-สำนักข่าวไทย