กทม. 5 มี.ค. – หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานจะทำมาจากเส้นใยสังเคราะห์โพลิเมอร์ ที่เรียกว่าผ้าสปันบอนด์ที่มีคุณภาพสูง แต่ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน ทำให้ผู้ผลิตบางรายลักลอบนำสารอื่นผสมลงไปและนำมาจำหน่าย อาจก่ออันตรายไม่แพ้โควิด-19 แล้วมีอะไรที่ใช้ทดแทนได้บ้าง
ขณะที่ข้อมูลจากตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) มีการจับกุมผู้ผลิตและจำหน่ายหน้ากากอนามัยทำจากสปันบอนด์ที่ไม่ได้มาตรฐานไปแล้วหลายราย อาจารย์วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี ม.เกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า วัสดุที่ใช้ทำหน้ากาอนามัยคือผ้าสปันบอนด์ เป็นเส้นใยสังเคราะห์โพลิเมอร์ ที่เป็น Polypropylene หรือ PP ซึ่งจะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น
แต่หน้ากากอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐาน จะทำมาจากผ้าสปันบอนด์เกรดต่ำ อาจมีสิ่งเจือปน ทำให้มีกลิ่นฉุน แตกยุ่ยได้ง่าย ซึ่งจะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่า “ไมโครพลาสติก” หากสูดดมเข้าไปเสี่ยงเป็นมะเร็ง แม้มี 3 ชั้น แต่บางมากทั้ง 3 ชั้น และเป็นโพลิเมอร์ชนิดเดียวกัน เส้นใยสีฟ้าเป็นการย้อมสีเพื่อให้ดูรู้สึกดี
ส่วนหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน ทำจากผ้าสปันบอนด์เกรดทางการแพทย์ ต้องมีขดลวดด้านบนสอดไว้ด้านในหน้ากาก ผ้าทั้ง 3 ชั้นจะมีความแตกต่างกัน ชั้นแรกด้านนอกสุดจะมีสารลดแรงตึงผิวเคลือบอยู่ ทดสอบได้โดยเมื่อมีน้ำหยดลงไปจะไม่ดูดซึม
หน้ากากอนามัยอีกชนิดที่สามารถใช้ทดแทนได้คือ หน้ากากคาร์บอน เนื่องจากหน้ากากคาร์บอนสามารถสร้างไฟฟ้าสถิต เนื่องจากเชื้อโควิค-19 คือชีวโมเลกุล มีขั้วไฟฟ้าบวกขั้วลบที่จะจับกับขั้วหน้ากากคาร์บอน สามารถหน่วงเชื้อไม่ให้เข้าไปในร่างกายได้ และช่วงนี้ที่หน้ากากอนามัยขาดแคลนสามารถใช้หน้ากากผ้า แต่ทำช่างสอดแผ่นคาร์บอนไว้ตรงกลาง ก็สามารถใช้ทดแทนได้
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ในช่วงที่หน้ากากอนามัยขาดแคลน หลายคนที่ไม่ป่วยนำหน้ากากอนามัยมาใช้ซ้ำ โดยใช้วิธีฉีดแอลกอฮอล์ 70% ก่อนนำมาใช้ซ้ำ เรื่องนี้อาจารย์วีรชัย บอกว่า คุณสมบัติของหน้ากากอนามัยกันน้ำ แต่ไม่กันสารเคมี แอลกอฮอล์ 70% คือสารเคมี และเมื่อฉีดไปที่หน้ากาก จะทำให้สารลดแรงตึงผิวที่เคลือบไว้ลดประสิทธิภาพลงอย่างมาก เปรียบเทียบได้ราวกับว่าไม่ได้ใส่หน้ากาก จึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ หากไม่มีจริงๆ ใช้หน้ากากผ้ายังจะดีกว่า. – สำนักข่าวไทย