นนทบุรี 5 มี.ค. – อัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ลดลงจากความกังวลปัญหาไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ราคาสินค้าขาดแคลนไปบ้าง แต่ประเทศไทยเป็นประเทศผลิตอาหารเองมีเพียงพอบริโภคระยะยาว พอกินพอใช้เน้นย้ำไม่ควรกักตุน
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ อัตราเงินเฟ้อ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่า อัตราเงินเฟ้อมีการขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.74 แต่เป็นการขยายตัวแบบชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้เป็นผลมาจากปัจจัยในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ปรับตัวสูงขึ้นในทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะอาหารสด,อาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหาร เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง ในขณะที่กลุ่มพลังงานมีการปรับตัวลดลง ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัวร้อยละ 0.89
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ที่ขยายตัวแบบชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านั้น เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกและการลงทุนที่ชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ในขณะที่ผลกระทบทางอ้อมทำให้รายได้ของภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว การขนส่ง ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกรวมถึงการผลิตปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ ทางสนค.ยังคงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 0.4 – 1.2 โดยให้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.8 แต่ยอมรับว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะขยายตัวไม่ถึงเป้าหมายที่ร้อยละ 0.8 เนื่องจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ชะลอตัวลง หลังจากมีความระมัดระวังการจับจ่ายหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ในขณะนี้ยังยืนยันได้ว่า สินค้าประเภทอาหารและน้ำดื่ม ภายในประเทศไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน ประชาชนไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้ากักตุน และสำหรับสินค้าประเภทเจลแอลกอฮอล์,ยาฆ่าเชื้อและสบู่ มีการมาขอจดทะเบียนการจัดตั้งบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 20 แห่ง และพร้อมที่จะผลิตสินค้าให้มากขึ้นเนื่องจาก ใช้วัตถุดิบในประเทศในการผลิตสินค้าเป็นส่วนใหญ่ . – สำนักข่าวไทย