การบินไทยรับเล็งลดเที่ยวบินอีก 20% มี.ค.นี้

กรุงเทพฯ 2 มี.ค. – ดีดีการบินไทยยอมรับเล็งลดเที่ยวบินอีก 20%  มี.ค.นี้ พร้อมโอดสายการบินแห่งชาติยังต้องทำการบินบางเส้นทาง เพื่อไม่ให้จราจรทางอากาศตัดขาด หวังไตรมาส 3 สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย


นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์ธุรกิจการบินของการบินไทย หลังได้รับผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หลังการบินไทยทำการลดเที่ยวบินเส้นทางบินประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีปริมาณผู้โดยสารลดลง เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เฉลี่ย 10-12 % เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเป็นการลดลักษณะปรับขนาดเครื่องบินให้เล็กลงสอดคล้องปริมาณการเดินทางของผู้โดยสาร และปรับลดจำนวนเที่ยวบินต่อวัน เช่น วันละ 3-4 เที่ยวบิน เหลือวันละ 1 เที่ยวบิน 

ทั้งนี้ ดีดีการบินไทยยอมรับว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังรุนแรงหลายประเทศเดือนมีนาคมนี้ การบินไทยเตรียมปรับลดเที่ยวบินเพิ่มเติมเส้นทางบินเดิมอีกประมาณ 20% ส่วนจะนำไปสู่การยกเลิกเส้นทางบินใดบ้างนั้น จะต้องพิจารณาจากปัจจัยหลายด้าน ซึ่งจำนวนผู้โดยสารที่มีแต่ละเที่ยวบินก็เป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่ง ซึ่งการบินไทยมีแนวปฏิบัติที่เตรียมไว้ แต่ขณะนี้ไม่สามารถเปิดเผยได้


ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าผลกระทบโควิด-19 ที่มีต่ออุตสาหกรรมการบินภาพรวม หลายสายการบินทำการลดเที่ยวบินและยกเลิกเส้นทางบินไปแล้ว แต่การบินไทยอาจจะดำเนินมาตรการได้ยากกว่าสายการบินอื่น เนื่องจากสถานะของความเป็นสายการบินแห่งชาติต้องรักษาการเดินทางเส้นทางบินที่สำคัญระหว่างประเทศยังมีความจำเป็นต้องรักษาไว้ เพื่อไม่ให้การจราจรทางอากาศถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิง โดยต้องยอมรับว่าสถานการณ์ผู้เดินทางขณะนี้ส่วนใหญ่เหลือแต่จำเป็นต้องเดินทางจริง ๆ 

ส่วนผลกระทบจากโควิด-19 จะคลี่คลายเมื่อใดนั้น ดีดีการบินไทย กล่าวว่า ขณะนี้เป็นเรื่องที่ยากลำบากจะระบุว่าสถานการณ์จะยุติเมื่อใด ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสำคัญ เช่น การคิดค้นวัคซีนรักษาโรคและวัคซีนป้องกันโรค อย่างไรก็ตาม การบินไทยเชื่อว่าเมื่อถึงไตรมาส 3 สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายและการเดินทางโดยอากาศยานจะเริ่มกลับมาบินปกติไตรมาส 4 ส่วนมาตรการลดค่าใช้จ่ายที่การบินไทยดำเนินการไปแล้ว ทั้งลดผลตอบแทนผู้บริหารและกรรมการ ถือว่ามาตรการเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นจากระดับ 4 เข้าใกล้ระดับที่ 3 (มาตรการสูงสุดคือระดับ 1) ส่วนจะมีมาตรการอะไรต่อไปนั้น จะไม่ขอเปิดเผยขณะนี้

ทั้งนี้ ปี 2562 บริษัทฯ ต้องเผชิญผลกระทบจากปัจจัยลบหลายประการทั้งจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ภัยธรรมชาติ การแข็งค่าของเงินบาทที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง บริษัทฯ ต้องหยุดบินในบางเส้นทางจากเหตุการณ์ปิดน่านฟ้าของสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน การประท้วงในฮ่องกง และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ในช่วงปลายปี 2562 ประกอบกับมีการรับรู้ค่าชดเชยตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เพิ่มขึ้นจาก 300 วันเป็น 400 วัน รวมทั้งปัจจัยภายในคือปัญหาความล่าช้าของการซ่อมเครื่องยนต์ของบริษัทผู้ผลิต ทำให้ผลประกอบการปี 2562 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 2.7% ส่วนปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 0.9% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.1% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 77.6% และจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 24.51 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.8% ซึ่งผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในปี 2562 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 184,046 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 15,454 ล้านบาท หรือ 7.7% 


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลประกอบการยังเป็นลบ แต่ปี 2562 บริษัทฯ มีการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายรวม 196,470 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 12,088 ล้านบาท หรือลดลง 5.8% ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีขาดทุนสุทธิ 12,017 ล้านบาท แม้ปี 2562 บริษัทฯ จะประสบภาวะขาดทุน แต่บริษัทฯ มี ความก้าวหน้าของแผนงานที่สำคัญ ได้แก่ ความคืบหน้าของโครงการ MRO การบินไทยในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการได้จัดส่งเอกสารการคัดเลือกให้แก่เอกชนผู้ประสงค์ร่วมทุนเรียบร้อยแล้วในเดือนธันวาคม 2562 โดยกำหนดการยื่นข้อเสนอของเอกชนผู้ประสงค์ร่วมทุนภายในวันที่ 6 มีนาคม 2563 และจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเอกสารและประเมินข้อเสนอของคณะกรรมการคัดเลือกต่อไป

การบูรณาการการบริหารจัดการการบินไทยและไทยสมายล์ โดยใช้หลักการบริหารจัดการแบบ Brother-Sister โดยมีการควบรวมแผนงานในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะด้านการขายและการวางแผนเส้นทางบินที่เน้นให้การบินไทยซึ่งมีประสบการณ์ด้านการขายเข้ามามีส่วนสนับสนุนมากขึ้น โดยการบินไทยจะเป็นผู้กำหนดทิศทางและกลยุทธ์ในการขายที่นั่งบนเที่ยวบินของสายการบินไทยสมายล์ทุกเส้นทางบินเริ่มตั้งแต่ เดือนมีนาคม 2562 ภายใต้วิธีการ Block Space Concept ส่งผลให้ผลการดำเนินงานโดยรวม เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบงวดเดียวกันของปีก่อน

การบริหารจัดการด้านรายได้ การขายและการตลาด โดยดำเนินกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าแบบ Personalized มุ่งเน้นการสร้างรายได้เสริม (Ancillary Revenue) เช่น รายได้จากการขาย Preferred Seatและการเพิ่มรายได้ในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการบิน เช่น การเพิ่มรายได้ของฝ่ายครัวการบินรวมทั้งเร่งดำเนินงานด้าน Digital Marketing โดยใช้ Big Data และ Data Analytic ในการวิเคราะห์ตลาดเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มการขายทาง Online รวมทั้งการขายสินค้าออนไลน์โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางการค้าที่อยู่ในระบบตลาดสินค้าออนไลน์ให้มากขึ้น และการดำเนินการขายเครื่องบินที่ปลดระวางแล้วอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 มีการโอนกรรมสิทธิ์เครื่องบินให้แก่ผู้ซื้อรวม 6 ลำ ได้แก่ เครื่องบินแบบแอร์บัส A330-300 จำนวน 5 ลำ และเครื่องบินแบบโบอิ้ง B747-400 จำนวน 1 ลำ.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เลือกตั้งนายก อบจ.อุบลฯ “กานต์” ส่อเข้าป้าย

เลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี “กานต์” หมายเลข 1 จากเพื่อไทย ส่อเข้าป้าย ด้าน ปชน. แถลงยอมรับยังไม่เป็นที่ไว้วางใจ ส่วนอุตรดิตถ์ “ชัยศิริ” อดีตนายก อบจ. ส่อเข้าวิน

วัยรุ่นซิ่งเบนซ์เสียหลักพุ่งเหินฟ้าคารถ 6 ล้อ

รอดตายปาฏิหาริย์! วัยรุ่นซิ่งเบนซ์เสียหลัก ก่อนพุ่งเหินฟ้าติดคาบนรถ 6 ล้อ พลเมืองดีเข้าช่วยเหลือออกมาจากรถ ปลอดภัย

กกต.สั่งเอาผิดอาญา “ชวาล” สส.ปชน. ยื่นบัญชีใช้จ่ายเท็จ

กกต.สั่งดำเนินคดีอาญา “ชวาล” สส.ปชน. ยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายเลือกตั้งไม่ตรงความเป็นจริง โทษหนักทั้งจำคุก-ตัดสิทธิ 5 ปี

ข่าวแนะนำ

“พิธา-ทักษิณ” ช่วยหาเสียงผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่

“พิธา” ลงพื้นที่ตลาดต้นลำไย จ.เชียงใหม่ พบปะพี่น้องประชาชน ด้านพรรคเพื่อไทย “ทักษิณ” ขึ้นเวทีแนะนำ “พิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ สว.ก๊อง” ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่

ไตรภาคีเคาะแล้ว! ค่าจ้างขั้นต่ำ มีผล 1 ม.ค.68

ไตรภาคี เคาะค่าจ้าง 400 บาท ลูกจ้าง 4 จังหวัด 1 อำเภอ “ภูเก็ต-ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง-อ.เกาะสมุย” มีผล 1 ม.ค.68 ขึ้นค่าจ้าง 7-55 บาท 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้วันละ 337 บาท

“ภูมิธรรม” สั่งปิดชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก 1 เดือน สกัดอหิวาตกโรค

“ภูมิธรรม” สั่งปิดชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก 1 เดือน สกัดอหิวาตกโรค ไม่ให้ระบาดในไทย พร้อมยกมาตรรักษาสุขภาวะในพื้นที่อย่างเข้มข้น