กรุงเทพฯ 2 มี.ค. – รมช.เกษตรฯ สั่งกรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งหาตลาดขยายช่องทางการจำหน่ายผลไม้ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิค – 19 เตรียมเสนอ ครม.พิจารณางบอุดหนุน 414.20 ล้านบาท ใช้บริหารจัดการผลผลิต
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคไวรัสโควิค -19 แพร่ระบาดหนักในประเทศจีนและทั่วโลกขณะนี้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของผลไม้ไทยไปยังประเทศจีน ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560 – 2562 ) จีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 มีการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน 570,833 ตัน รองลงมา คือ ฮ่องกง 114,260 ตัน และเวียดนาม 639,545 ตัน รวม 1,324,637 ตัน โดยปี 2562 มีการส่งออกทุเรียน มังคุด และลำไย ไปประเทศจีน 12,251.16 ตัน มูลค่า 572.45 ล้านบาท แต่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมายังไม่มีออร์เดอร์จากจีน
ขณะที่ปี 2563 คาดว่าไทยจะมีปริมาณผลไม้ออกสู่ตลาด ทั้งทุเรียน ลำไย มังคุด เงาะ ลองกอง และลิ้นจี่ รวม 3,072,591 ตัน โดยผลไม้ส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มังคุด เป็นผลไม้ที่มีสัดส่วนรวมกันมากกว่า 84 % ของจำนวนผลไม้ทั้งประเทศ หากไม่มีมาตรการรองรับอาจจะส่งผลให้ผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำและเกษตรกรประสบปัญหาขาดทุน จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดทำโครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้ของสถาบันเกษตรกร เพื่อรองรับผลกระทบของโรคไวรัสโควิค -19 เป็นมาตรการเร่งด่วน โดยจะใช้เครือข่ายสหกรณ์ทั่วประเทศที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลไม้ 90 แห่ง ใน 31 จังหวัด มีเกษตรกรเป็นสมาชิก 95,321 ราย ช่วยระบายผลไม้สู่ตลาดราคาที่เป็นธรรม ตั้งเป้า 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน จะกระจายผลไม้ผ่านระบบสหกรณ์ได้ 80,000 ตัน แบ่งเป็นทุเรียน 40,00 ตัน มังคุด 20,000 ตัน และลำไย 20,000 ตัน
นอกจากนี้ จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณางบประมาณเพื่อบริหารจัดการผลไม้ผ่านระบบสหกรณ์ วงเงิน 414.20 ล้านบาท ซึ่งจะนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบหลักการรายละเอียดก่อนเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง โดยวงเงินจำนวนนี้จะให้สหกรณ์ต้นทางใช้เป็นค่าบริหารจัดการผลไม้ กิโลกรัมละ 1 บาท ค่าขนส่ง จากแหล่งรวบรวมไปสหกรณ์ปลายทาง กิโลกรัมละ 2 บาท ค่าจัดซื้อบรรจุภัณฑ์ เช่น ตะกร้า กล่อง จำนวน 3.5 ล้านใบ และค่าบริหารจัดการของสหกรณ์ปลายทางเพื่อกระจายผลไม้สู่ผู้บริโภคในพื้นที่ กิโลกรัมละ 50 สตางค์ และจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์บริโภคผลไม้ ในจังหวัดใหญ่ เช่น นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี เชียงใหม่ สงขลา สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ รวม 16 จังหวัด และระดับอำเภอ 824 อำเภอ และให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 1 ให้สหกรณ์กู้ยืมไปเป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมผลไม้จากเกษตรกรในฤดูกาล ปี 2563
ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาผลไม้ไม่ให้ตกต่ำ คิดเป็นมูลค่า 1,760 ล้านบาท และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่า 7,644.071 ล้านบาท หรือ 18.45 เท่าของการลงทุนจากภาครัฐ และวันที่ 8 – 9 มีนาคม จะมีการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ผลไม้จังหวัดจันทบุรี พร้อมทั้งได้เชิญตัวแทนสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่รวบรวมผลไม้ รับฟังการชี้แจงถึงมาตรการ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาด และจะมีการประชุมสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมกันกระจายผลไม้ ระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตต้นทางกับสหกรณ์ผู้บริโภคกว่า 150 แห่ง พร้อมทั้งทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายผลไม้ระหว่างสหกรณ์ กับคู่ค้าเอกชน ทั้งห้างโมเดิร์นเทรด บริษัทเอกชนและผู้ส่งออก . – สำนักข่าวไทย