กรุงเทพฯ 24 ก.พ. – กรมป่าไม้ร้องทุกข์กล่าวโทษ บ.ศิลาสิน ซึ่งขอใช้ที่ป่าเสื่อมโทรมทำเหมืองหิน ฐานละเลย ไม่ใส่ใจ เป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ป่า ขยายผลตรวจสอบโรงโม่หินอีก 60 แห่งในลำปาง ซึ่งพบร่องรอยเกิดไฟไหม้ในพื้นที่ขออนุญาตและพื้นที่ใกล้เคียง หากพบมีความผิดลักษณะเดียวกันจะดำเนินคดีอย่างถึงที่สุดทุกราย
นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่านำชุดปฎิบัติการพยัคฆ์ไพรเร่งขยายผลตรวจสอบการลักลอบเผาป่าสงวนแห่งชาติแม่จาง อ. แม่ทะ จ. ลำปาง ซึ่งพบว่า รปภ.ของบริษัท ศิลาสินลำปาง ที่ขอใช้พื้นที่กรมป่าไม้ทำเหมืองหินนั้น ก่อเหตุวางเพลิงทำให้พื้นที่ป่าเสียหาย 109 ไร่ โดยโทษทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ซึ่งผู้ต้องหา คือ นายอุดิมสินธิ์ ธิธรรมา จะได้รับตามมาตรา 3130 พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติปี 2507 คือ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท
ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้ากระทําเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ (1) ไม้สัก ไม้ยาง ไม้สนเขา หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. ตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ (2) ไม้อื่นที่เป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันเกิน 20 ต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกิน 4 ลูกบาศก์เมตร หรือ (3) ต้นน้ำลําธาร หรือ (4) พื้นที่ชายฝั่ง ผู้กระทําความผิดต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 4 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 บาทถึง 2,000,000 บาท บุคคลนั้นยึดถือหรือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ศาลมีอํานาจสั่งให้ผู้กระทําความผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของผู้กระทําความผิดออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตลอดจนสั่ง ให้ผู้กระทําความผิดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง หรือนําสิ่งใด ๆ อันก่อให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติออกจากป่าสงวนแห่งชาติในเวลาที่กำหนดและให้ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแเพ่งตามพ.ร.บ. ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติปี 2535 มาตรา 97 กำหนดให้เรียกร้องความเสียหายที่เกิดขี้นจากการเผาป่าเฉลี่ยไร่ละ 100,000 บาท รวมค่าเสียหายทางแพ่งทั้งหมดกว่า 10 ล้านบาท
นายชีวะภาพ กล่าวต่อว่า จุดที่เกิดไฟไหม้ป่าบริษัท ศิลาสินขอใช้ประโยชน์บวิเวณป่าเสื่อมโทรม ป่าแม่จาง 220-2-01 ไร่ ประกอบกิจการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน ซึ่งจากการเข้าตรวจสอบ โดยมีนางสาวมลฤดี อย่างเจริญ กรรมการบริษัท เป็นผู้นำตรวจและให้ถ้อยคำ พบพื้นที่ถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหมด 109 ไร่ แบ่งเป็น อยู่ในเขตขอใช้ประโยชน์ 14-1-32 ไร่ นอกพื้นที่ขอใช้ 94-2-68 ไร่ ทั้งนี้ตามเงื่อนไขแนบท้ายหนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ป่าสงวนแห่งชาติระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่ได้รับอนุญาตจะต้องไม่สั่งการหรือยินยอมให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด กระทำการ หรือละเว้นการกระทำการใด ๆ ให้เป็นการเสื่อมเสียสภาพป่าหรือของป่า หากมีการกระทำผิด ผู้รับอนุญาตต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย ต้องคอยสอดส่องตรวจตราระมัดระวังมิให้มีการบุกรุกในพื้นที่ได้รับการอนุญาต ถ้ามีการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ผู้รับอนุญาตต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบทันที หากพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่ามีการเสียหายเกิดขึ้นโดยที่ผู้รับอนุญาตควรจะทราบ แต่ละเลยมิได้แจ้งให้ทราบ ผู้รับอนุญาตต้องรับผิดชอบด้วย และต้องมีการจ่ายฟื้นฟู ดูแล บำรุงรักษาพื้นที่ให้กลับคืนมาดังเดิมให้มากที่สุด ผู้รับอนุญาตต้องบำรุงดูแลสภาพป่าในบริเวณที่ได้รับอนุญาต และบริเวณติดต่อใกล้เคียงให้มีสภาพป่าคงเดิม กรณีผู้ได้รับอนุญาตผ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้จะมีความผิดตามมาตรา 33/2และ 33/3 ซี่งคณะเจ้าหน้าที่ร่วมกันลงความเห็นว่า บริษัท ศิลาสินมีพฤติกรรมผ่าฝืนหรือละเว้นไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจึงได้ร่วมกันจัดทำบันทึกตรวจสอบเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทศิลาสินลำปางต่อพนักงานสอบสวนสภ. แม่ทะ จากนั้นจะมอบให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) เสนอให้มีการพักใช้ใบอนุญาตการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติต่อไป
นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าเฉพาะจังหวัดลำปางมีพื้นที่ขออนุญาตใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อดำเนินกิจการด้านเหมืองแร่และโรงโม่หิน 61 โครงการ รวมพื้นที่ประมาณ 48,213 ไร่ เมื่อขยายผลอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศพบว่า ที่ผ่านมามีร่องรอยการเกิดไฟไหม้ในเขตพื้นที่ได้รับอนุญาตและพื้นที่ติดต่อใกล้เคียงพื้นที่ใช้ประโยชน์จำนวนมาก ทำให้เห็นว่าผู้ประกอบการที่ได้ใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติไม่ให้ความสำคัญต่อเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนดไว้ ชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพรจึงจะเข้าตรวจสอบโครงการอื่น ๆ หากตรวจสอบพบการกระทำผิดจะดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายให้ถึงที่สุดทุกราย.-สำนักข่าวไทย