กรุงเทพฯ 24 ก.พ. – กรุงศรีหั่นจีดีพีปี 63 ลงเหลือ 1.5% หลังได้รับผลกระทบหนักจากความล่าช้างบฯ ปี 63 การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และภัยแล้งทวีความรุนแรงขึ้น
นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารปรับลดจีดีพีปี 2563 ลงเหลือ 1.5% จากเดิมคาดจะขยายตัว 2.5% เนื่องจากเศษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะครึ่งปีแรกจากความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 โดยคาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ภายในสิ้นเดือนมีนาคม หรืออย่างเร็วสุดกลางเดือนมีนาคม ทำให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งโครงการใหม่และที่กำลังดำเนินการล่าช้า กระทบจีดีพีลด 0.9% นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของเอกชนด้วย
ส่วนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คาดจะมีความรุนแรงสุดช่วงเดือนมีนาคมและใช้เวลาอย่างน้อยถึงเดือนพฤษภาคมสถานการณ์จึงเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2563 หดตัว 4-5% กระทบจีดีพีลดลง 0.4% ขณะที่ปัญหาภัยแล้งมีความรุนแรงมากขึ้นและมีแนวโน้มลากยาวถึงเดือนพฤษภาคม โดยวิจัยกรุงศรีประเมินว่าข้าวจะได้รับความเสียหายกว่า 21,600 ล้านบาท มันสำปะหลังเสียหายกว่า 2,500 ล้านบาท รวมทั้งผลกระทบทางอ้อมต่อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่น ๆ ทำให้กระทบต่อจีดีพีลดลง 0.3%
อย่างไรก็ตาม นายสมประวิณ ระบุว่า จากผลกระทบดังกล่าวจะทำให้จีดีพีไตรมาส 1 ติดลบ 1.5% และจะกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาส 3 ซึ่งตัวเลขจีดีพีปี 63 ที่ปรับลดลงเหลือ 1.5% ถือเป็นตัวเลขคาดหวังจากการมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะทยอยออกมาหลังรัฐบาลเริ่มเบิกจ่ายได้ เช่น มาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งมองว่าหากมีเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นภาคการบริโภคได้อย่างน้อย 100,000 ล้านบาท ก็จะช่วยกระตุ้นตัวเลขเศรษฐกิจไทยได้ ซึ่งมองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหมาะสมควรเริ่มจากการกระตุ้นการบริโภค เพื่อเพิ่ม sentiment และความเชื่อมั่นนักลงทุน หลังจากนั้นจึงกระตุ้นการลงทุนและการออกมาตรการที่จะช่วยหนุนให้เกิดการลงทุน ทั้งนี้ มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้งในช่วงเดือนมีนาคมนี้ ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.75% เพื่อช่วยประคองภาวะเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวหนัก.- สำนักข่าวไทย