กรุงเทพฯ 7 พ.ค. – EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 เหลือโต 2.0% จากผลกระทบโควิด-19 เสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำสอง ชี้เงินเยียวยา 2.4แสนล้านบาท อาจไม่เพียงพอ ด้าน ธ.กรุงเทพ ขานรับมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู
ศูนย์วิจัยอีไอซี ( EIC หรือ Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 จากที่เคยคาดไว้ขยายตัวที่ 2.6% เหลือ 2.0% สาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากการระบาดระลอกที่ 3 ประกอบกับแนวนโยบายการเปิดประเทศทั่วโลกที่มีความระมัดระวังมากขึ้น แม้จะได้รับแรงสนับสนุนจากภาคส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตดีกว่าคาด และเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
การส่งออกของไทยมีแนวโน้มฟื้นเร็วกว่าคาด ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำให้ราคาสินค้าส่งออกปรับสูงขึ้น จึงทำให้ EIC คาดว่ามูลค่าส่งออกปี 2564 จะขยายตัวที่ 8.6% ดีกว่าเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 6.4% และปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 จากเดิม 3.7 ล้านคนเหลือเพียง 1.5 ล้านคน จากนโยบายการเดินทางระหว่างประเทศที่ระมัดระวังมากขึ้นของทั้งไทยและต่างประเทศ
การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม และมีแนวโน้มซ้ำเติมปัญหาแผลเป็นเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นอุปสรรคหลักของการฟื้นตัวในระยะต่อไป คาดว่าการระบาดจะใช้เวลาราว 3 เดือนในการควบคุม คาดจะเกิดความเสียหายประมาณ 2.4 แสนล้านบาท (1.5% ต่อ GDP)
การใช้จ่ายภาครัฐ ล่าสุด ครม. มีมติออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมวงเงินราว 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้เม็ดเงินใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทจนครบวงเงิน อย่างไรก็ดี เม็ดเงินตามแผนที่จะเข้าพยุงเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 จะมีเพียง 8.5 หมื่นล้านบาท เทียบกับผลกระทบการระบาดระลอก 3 ที่ EIC ประเมินไว้ราว 2.4 แสนล้านบาท จึงเป็นเม็ดเงินที่อาจจะไม่เพียงพอต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น และเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อีกรอบในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ หลังจากเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบแรกในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 – ไตรมาส 2 ปี 2563 จากผลกระทบสงครามการค้าและการระบาดโควิด-19 รอบแรก
EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในอีก 2-3 ปีข้างหน้ายังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ภาคท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ส่งผลให้เกิด Permanent Output loss ขนาดใหญ่ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้น และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจรองรับ New Normal โดยเฉพาะการปรับทักษะของแรงงาน และการช่วย SMEs ปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล.-
นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารฯ ขานรับมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง มอบความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ ผ่าน 2 มาตรการ
1.) มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ สำหรับทั้งลูกค้าปัจจุบันที่มีวงเงินสินเชื่อธุรกิจกับธนาคารไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ 28 กุมภาพันธ์ 2564 สามารถขอวงเงินสินเชื่อฟื้นฟูได้สูงสุด 30% ของวงเงินเดิม สูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาท (นับรวมกับวงเงิน Soft Loan เดิมที่เคยได้รับตาม พ.ร.ก.) และลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินใด สามารถขอสินเชื่อได้สูงสุด 20 ล้านบาท นับรวมวงเงินจากทุกสถาบันการเงิน โดยช่วง 5 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี โดยช่วง 2 ปีแรก คิด 2% ต่อปี ทั้งยังได้รับยกเว้นดอกเบี้ย 6 เดือนแรก จากการสนับสนุนของกระทรวงการคลัง ซึ่งธนาคารยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการขอสินเชื่อ เพื่อช่วยลดภาระผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อทุกราย คิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันไม่เกิน 1.75% ต่อปี โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้บางส่วน
2.) มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) เพื่อลดภาระทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ ซึ่งได้รับผลกระทบและต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัว ด้วยการโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันชำระหนี้ให้กับธนาคาร ตามราคาที่ตกลงกัน โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถเช่าทรัพย์สินนั้นเพื่อไปประกอบธุรกิจได้ตามอัตราค่าเช่าที่ตกลงกัน และให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจในการซื้อทรัพย์คืน ภายใน 3-5 ปี – สำนักข่าวไทย