กรุงเทพฯ 17 ก.พ.-สภาวิศวกร เปิดเวทีระดมสมอง ดึงนักวิชาการ-นักวิชาชีพ-มหาวิทยาลัย “รวมพลังปัญญา แก้ปัญหาฝุ่นพิษ” ปลุกคนไทยตระหนักถึงปัญหา ชี้ฝุ่นจิ๋วกระทบเศรษฐกิจสุขภาพปอดพัง เตรียมร่างนโยบายสาธารณะเสนอรัฐแก้ปัญหาจริงจังก่อนสายเกินเยียวยา
วันนี้ (17ก.พ.) ที่ รร.เดอะสุโกศล สภาวิศวกร เปิดเวทีการเสวนา ระดมสมองจากนักวิชาการ-นักวิชาชีพ ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งเวทีนี้มีหลายหน่วยงานเข้าร่วมกันระดมสมอง ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.),สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.),สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย,สมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร เปิดเผยถึงการจัดเวทีระดมความคิดในครั้งนี้ ว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน PM 2.5 ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562-2563 ซึ่งส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งพบว่าค่าฝุ่นเกินมาตรฐานอยู่ในระดับรุนแรง บางพื้นที่มีปริมาณความหนาแน่นของฝุ่นทะลุเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สั่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
ขณะเดียวกันยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลังจากที่กรุงเทพฯ ติดอันดับ 1ใน 10 เมืองที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานโลก ดังนั้นสภาวิศวกรในฐานะเสาหลักทางด้านวิศวกรรมของชาติ จึงเชิญ 5 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันระดมสมอง หาทางออกในการแก้ไขปัญหานี้ เนื่องจากเป็นปัญหาที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย
ทั้งนี้ ภายหลังการจัดเสวนาระดมความคิดจากนักวิชาการและนักวิชาชีพ คาดว่าทางสภาวิศวกรจะรวบรวมทุกข้อมูลที่ได้ร่างเป็นนโยบายสาธารณะ เสนอต่อรัฐบาลในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังและให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
ด้านนายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสภาวิศวกร และอดีตกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กล่าวว่า ละอองฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก หลายคนอาจจะมองว่าเป็นฝุ่นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากนัก แต่แท้จริงฝุ่นละอองขนาดจิ๋วเป็นต้นตอของการให้เกิดโรคมะเร็งในปอด ดังนั้น เราจึงควรจะต้องใส่ใจและจริงจังต่อการแก้ปัญหา เวทีนี้ได้เสนอเรื่องการแก้ไขปัญหาทางออกเร่งด่วน คือมาตรฐานของรถยนต์และเชื้อเพลิง ซึ่งบ้านเรายังใช้รถยนต์ที่เป็นมาตรฐานยูโร 4 ขณะที่ทั่วโลกเป็นยูโร 6 อาจจะให้ปัญหานี้ลดลง ทางกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม , กระทรวงคมนาคม ต้องเร่ง วางมาตรฐาน รถใหม่-รถเก่า รวมถึงรถบรรทุกที่ใช้ขนส่งสินค้า ให้มีมาตรฐานการใช้เชื้อเพลิงที่ไม่ส่งผลต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มขึ้น
เช่นเดียวกับการปรับมาตรฐานการวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ให้เท่าเทียมกับมาตรฐานโลก ซึ่งกำหนดมาตรฐานให้ไม่เกินที่ 20 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ประเทศไทยกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หากมีการกำหนดตามค่ามาตรฐานให้เท่ากันจะทำให้ทุกภาคส่วนเล็งเห็นถึงว่าเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้นจะได้ร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจังและยั่งยืน เพื่อไม่ให้ลุกลามยากเกินเยียวยาด้วย .-สำนักข่าวไทย