กทม. 9 พ.ค.-สภาวิศวกร เผยพบบุคคล 2-3 รายเข้าข่ายผิดจรรยาบรรณ กรณีอาคาร สตง.ถล่ม อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลให้ชัด ก่อนส่งให้คณะกรรมการจรรยาบรรณพิจารณาบทลงโทษ ชี้กรณีวิศวกรปลอมลายเซ็นด้วยกันเป็นคดีอาญา แต่ไม่ผิดจรรยาบรรณ แต่หากพบผู้ปลอมลายเซ็นเป็นวิศวกรมีโทษสูงถึงเพิกถอนใบอนุญาต
ห้องวิศวภิวรรธน์ ชั้น 7 อาคารที่ทำการสภาวิศวกร (ซอยลาดพร้าว 54) กรุงเทพฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญชัย ลีเผ่าพันธุ์ อุปนายกสภาวิศวกร คนที่ 2, รองศาสตราจารย์ดร.การุญ จันทรางศุ ประธานกรรมการจรรยาบรรณ และนายประสงค์ นรจิตร์ ประธานอนุกรรมการกฎหมาย ร่วมกันแถลงกรณีอาคาร สตง. ถล่ม กับบทบาทของสภาวิศวกร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ กล่าวว่า วันเกิดเหตุ 28 มีนาคม 2568 ทางสภาวิศวกรได้ลงพื้นที่เพื่อไปช่วยเหตุการณ์ที่ตึกถล่มบริเวณจตุจักร โดยมี วิศวกรจิตอาสาเข้าไปช่วยแนะนำในการ ค้นหาผู้ที่ยังมีสัญญาณชีพ การกู้ร่างผู้เสียชีวิต และการให้คำเสนอแนะในการค้ำยันโครงสร้าง โดยได้ส่งวิศวกรอาสาเข้าไปช่วย 2 ส่วนคือทางกรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจสอบคอนโดมิเนียม อาคารที่พักอาศัย และกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อตรวจสอบอาคารของภาครัฐทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ เพื่อจำแนกอาคารว่ามีความปลอดภัยในระดับใด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุ 2 วันได้ตั้งเป็นกองอำนวยการร่วมเพื่อตรวจทานร่วมกันโดยร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์เพื่อช่วยเหลืออาคารที่อยู่ในสภาพที่เป็นสีเหลืองและสีแดงเพื่อให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือ ขณะเดียวกันได้แต่งตั้งตัวแทนที่เป็นวิศวกรเข้าไปช่วยเป็นหนึ่งในคณะทำงานของคณะกรรมการที่จัดตั้งโดยภาครัฐที่สืบหาข้อเท็จจริงว่าสาเหตุของการเกิดการถล่มลงมาของอาคารสตง. เป็นอย่างไร โดยมีคณะทำงานเข้าไปช่วยจำนวน 2-3 ชุด ขณะเดียวกันได้ตั้งคณะทำงานที่ทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนิติบุคคล หรือบริษัทที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง รวมถึงวิศวกรที่ปรากฎชื่อในส่วนต่างๆ โดยทำหนังสือไปถึงหน่วยงานต่างๆ รวมถึงตัวบุคคลด้วย ซึ่งปัจจุบันในการส่งข้อมูลกลับมาว่าทำงานเกี่ยวกับอะไร มีความเกี่ยวข้องอย่างไร ส่วนการดำเนินการด้านกฎหมายและจรรยาบรรณของวิชาชีพ บทบาทที่ผ่านมาได้ทำงานโดยไม่หยุดนิ่งได้ทำมาโดยตลอด โดยในเรื่องของจรรยาบรรณมีกรรมการจรรยาบรรณ ซึ่งถือเป็นอิสระจากกรรมการบริหาร
รองศาสตราจารย์ดร.การุญ ในฐานะที่เป็นประธานกรรมการจรรยาบรรณ กล่าวถึงกรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจรรยาบรรณของสภาวิศวกร ว่า เราเป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสภาวิศวกร โดยสภาวิศวกรมีหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมของวิศวกร มีการควบคุมโดยการออกใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพ อย่างไรก็ดีการที่จะทำให้อาชีพนี้มีความยั่งยืนเป็นที่น่าเชื่อถือกับสังคมจะต้องมีผู้ที่ดำเนินการดูแลในเรื่องความประพฤติในการที่จะประกอบวิชาชีพวิศวกรควบคุมนั้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด คณะกรรมการจรรยาบรรณเมื่อได้รับการแต่งตั้งในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีแล้วก็มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีการกล่าวหา หรือกล่าวโทษว่าผู้ได้รับใบอนุญาต ก็คือวิศวกรผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพประพฤติผิดจรรยาบรรณ ซึ่งจรรยาบรรณนี้อยู่ในข้อบังคับของสภาวิศวกร และการประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียกิตติศักดิ์แห่งวิชาชีพ ข้อบังคับนี้ออกมาเมื่อปีพ.ศ. 2559 ได้ยึดถือเป็นกรอบความประพฤติที่วิศวกรจะกระทำหรือไม่ควรกระทำ เพื่อให้วิชาชีพของเรามีความยั่งยืน
รองศาสตราจารย์ดร.การุญ กล่าวว่า เมื่อคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่และวินิจฉัยในกรณีการกระทำผิดจรรยาบรรณ ขั้นตอนที่สำคัญคือขั้นตอนการพิจารณาข้อกล่าวหา คณะกรรมการจรรยาบรรณมีอำนาจตามกฎหมายในการรับหรือไม่รับคำกล่าวหาหรือกล่าวโทษที่มีการร้องเรียนว่าวิศวกรผู้ได้รับใบอนุญาตประพฤติผิดจรรยาบรรณ ในการจะรับพิจารณาหรือไม่รับนั้นจะมีคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและแสวงหาหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาว่าข้อกล่าวหานั้น มีเรื่องของการที่เข้าข่ายการประพฤติผิดจรรยาบรรณหรือมีข้อมูลอันควรได้รับการพิจารณาที่จะต้องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนต่อไปหรือไม่อย่างไร
รองศาสตราจารย์ ดร.การุญ กล่าวว่า ขั้นตอนที่ 2 ถ้าคณะอนุกรรมการไต่สวน เมื่อได้รับการแต่งตั้งขึ้นเมื่อรับว่ามีมูล เพื่อรับมาพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เพื่อเป็นการแสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมขึ้น โดยผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาชี้แจงต่อสภา เพื่อให้คณะกรรมการไต่สวนได้รวบรวมและสรุปความเห็นผลการไต่สวนเสนอต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณว่าวิศวกร ผู้ถือใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือเรียกในขั้นตอนนี้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้มีการประพฤติผิดจรรยาบรรณอย่างไรหรือไม่ และสมควรที่จะเสนอลงโทษสถานใด ส่วนขั้นตอนที่ 3 เป็นขั้นตอนพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด โดยรูปแบบของคณะกรรมการ ประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ประสบการณ์เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพื่อทำให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบคอบในการตัดสินใจ เป็นหลักการสำคัญที่ก่อให้เกิดความเป็นกลางและความเป็นธรรมต่อคู่กรณี จะเป็นการพิจารณาที่จะสามารถวินิจฉัยชี้ขาดออกมาได้ว่าข้อสรุปที่คณะอนุกรรมการไต่สวนได้สรุปมาในขั้นตอนที่ 2 คณะกรรมการจะชี้ขาดว่ามีความผิดอย่างไรหรือไม่
เมื่อถามถึงการตรวจสอบวิศวกรที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้มรการตรวจสอบแล้วหรือไม่ ทางรองศาสตราจารย์ดร.การุญ กล่าวว่า บุคคลผู้เสียหายมีสิทธิ์ทำหนังสือกล่าวหาต่อสภาวิศวกรโดยต้องระบุชื่อไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือระบุชื่อ-นามสกุลของวิศวกร พร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำที่ประสงค์จะกล่าวหา ทั้งนี้ผู้เสียหายต้องระบุชื่อรวมถึงการกระทำที่คิดว่าเป็นการละเมิดจรรยาบรรณ ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำที่คิดว่าเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณจะถูกบรรจุไว้ในคำร้องเรียนหรือคำกล่าวหา โดยการใช้สิทธิ์กล่าวหาดังกล่าวต้องไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ได้รับความเสียหายรู้ว่ามีการประพฤติผิดจรรยาบรรณและรู้ตัวผู้กระทำผิดด้วย
นายประสงค์ กล่าวอีกว่า ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือความเสียหาย หรือพบผู้ที่พบเหตุการณ์ สามารถกล่าวโทษเข้ามาได้ และ กรรมการสภาวิศวกรหรือบุคคลทั่วไปก็สามารถกล่าวโทษเข้ามาได้ โดยปัจจุบันยังไม่มีการกล่าวหาหรือกล่าวโทษเข้ามา แต่ทางสภาวิศวกรก็ไม่ได้นิ่งนอนใจได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูลส่วนหนึ่งของการรวบรวมข้อมูลคือการรวบรวมข้อมูลของวิศวกรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในโครงการนี้ว่ามีการกระทำที่น่าจะเข้าข่ายการผิดจรรยาบรรณหรือไม่ เพื่อจะส่งเรื่องต่อไป เนื่องจากเอกสารส่วนหนึ่งยังรอการชี้แจงข้อมูลมา บางส่วนได้ส่งข้อมูลมาจำนวนมากประมาณ 2,000 – 3,000 หน้ายังอยู่ระหว่างการทบทวนข้อมูลอยู่ โดยได้เห็นร่องรอยที่น่าจะมีโอกาสส่งไปให้พิจารณาว่าบุคคลใดมีพฤติการณ์เข้าข่ายผิดหรือไม่ผิดอย่างไร แต่เห็นว่าพฤติกรรมอาจจะเข้าข่ายซึ่งจะต้องสรุปข้อมูลอีกสักเล็กน้อย โดยอาจจะมีบุคคลที่เกี่ยวข้องล็อตแรกจำนวน 2-3 รายที่เสนอประธานจรรยาบรรณเพื่อพิจารณาต่อไป
นายประสงค์ กล่าวว่า ส่วนกรณีลงลายมือชื่อเป็นอีกกรณีหนึ่งไม่ใช่ประเด็นจรรยาบรรณ เท่าที่ทราบได้มีการแจ้งความในคดีอาญาไปแล้ว ซึ่งจะต้องรอผลสิ้นสุดของคดีอาญาเข้ามา และผู้ที่ถูกปลอมลายมือชื่อเป็นสมาชิกของสภาวิศวกรสภาก็ยินดีที่จะช่วยเหลือดูแลภายใต้อำนาจหน้าที่ของสภาวิศวกร หากมีการร้องขอเข้ามาว่าจะให้สภาช่วยเหลือเรื่องคดีอย่างไร ทั้งนี้ถ้าคนที่ปลอมลายมือชื่อเป็นวิศวกรด้วยกันและหากมีการปลอมแปลงจริงและผู้ปลอมแปลงเป็นวิศวกรสามารถนำพฤติกรรมนี้มานำเสนอเพื่อพิจารณาเอาผิดในเรื่องจรรยาบรรณได้ ส่วนเรื่องใบอนุญาติประกอบวิชาชีพมี 3 ระดับแต่ละระดับมีการกำหนดขอบเขตการทำงานไว้ แต่หากมีใบอนุญาตต่ำแล้วไปทำงานในระดับสูงนั้น ในส่วนนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลอยู่
รองศาสตราจารย์ ดร.การุญ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามการดำเนินผิดด้านจรรยาบรรณ ต้องเป็นคำสั่งถึงที่สุดแล้วของศาลจะเป็นการทำผิดจรรยาบรรณบททั่วไปทำให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ มีบทลงโทษชัดเจนตั้งแต่การ ตักเตือน, ภาคทัณฑ์, พักใช้ใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต ส่วนกรณีที่วิศวกรบางรายมีการอ้างว่าถูกปลอมแปลงลายมือชื่อในการควบคุมงาน การตรวจสอบเป็นหน้าที่ของตำรวจที่เป็นผู้พิสูจน์หาความจริง หากวิศวกรปลอมแปลงลายเซ็นวิศวกรด้วยกันก็เป็นความผิดทางอาญาไม่ได้ผิดเรื่องจรรยาบรรณ แต่วิศวกรที่ถูกปลอมแปลงลายเซ็นสามารถที่จะนำพฤติการณ์ดังกล่าวมานำเสนอต่อสภาวิศวกรเพื่อให้พิจารณาเรื่องของจรรยาบรรณได้ ในกรณีนี้หากมีความผิดจริงจะมีโทษสูงสุดถึงการเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งมีระยะเวลา 5 ปี หากพ้น 5 ปีแล้วจะอยู่ในการวินิจฉัยของคณะกรรมการสภาในกรณีที่มีการร้องขอในการที่จะกลับมาประกอบวิชาชีพใหม่ทางกรรมการสภาวิศวกรจะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมในขณะนั้น
ส่วนกรณีที่มีการออกข้อมูลคำชี้แจงสภาวิศวกร เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลของกรรมการสภาวิศวกร ผ่านทางสื่อมวลชนและโซเชียลเน็ตเวิร์ค กรณีเกิดเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม นั้น รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญชัย กล่าวว่า คำชี้แจงของสภาวิศวกรเมื่อวานนี้พูดถึงบุคคลทั่วไปที่ไปสัมภาษณ์หรือให้ข่าวกับสื่อต่างๆ แล้วอ้างอิงถึงสภาวิศวกร ทั้งนี้ยืนยันว่าเป็นความเห็นส่วนบุคคลไม่ใช่ความเห็นของสภาวิศวกร ส่วนความเห็นจะผิดหรือถูกเป็นเรื่องของส่วนบุคคล ไม่ได้ห้ามการให้ความเห็น แต่จะต้องแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลไม่เกี่ยวพันกับองค์กรคือสภาวิศวกร อย่างไรก็ตามยืนยันว่าไม่ได้มีการห้ามพูดหรือแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด.-419.-สำนักข่าวไทย