สทนช. 14 ก.พ.-“พล.อ.ประวิตร” ประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตามความคืบหน้าการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ มั่นใจไม่เกิดกฤติ ขณะที่น้ำในอุตสาหกรรมตะวันออกมีเพียงพอ ใช้น้ำเอกชนที่เก็บไว้
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนเป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ว่า วันนี้จะติดตามความคืบหน้าการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ และการขุดบ่อน้ำบาดาล สามารถกักเก็บน้ำได้เท่าไร แต่ต้องเสร็จก่อนช่วงฤดูฝนเพื่อให้ทันรองรับน้ำและต้องขุดให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคใด และมั่นใจว่าจะไม่เกิดวิกฤติ น้ำอุปโภคบริโภคจะมีพอใช้ไปถึงเดือนกรกฎาคม และได้เตรียมการไว้ทุกพื้นที่
ส่วนกระแสข่าวในภาคอุตสาหกรรม ภาคตะวันออกกำลังจะมีปัญหาเรื่องน้ำไม่พอ พล.อ.ประวิตร ยืนยันว่า ไม่มีปัญหาแล้ว เพราะตกลงกับภาคเอกชนได้แล้ว โดยนำน้ำของภาคเอกชนที่กักเก็บไว้มาใช้ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการประสานงานกัน แต่ขณะนี้เข้าใจกันแล้ว ขอยืนยันว่าไม่กระทบกับน้ำที่รัฐกักเก็บไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการในที่ประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การเพิ่มการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพิ่มเติมจากแผนเดิมอีก 350 ล้านลูกบาศก์เมตร ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 จากเดิมที่มีการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองแล้ว 500 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อป้องกันปัญหาน้ำทะเลรุกตัวเข้ามายังแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมอบหมายให้กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการประปานครหลวง ควบคุมการบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบ รวมถึงป้องกันและเฝ้าระวังการสูญเสียน้ำระหว่างการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิดด้วย และ 2.การบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกเพื่อไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ จากการประเมินสถานการณ์ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พบว่ามีอ่างเก็บน้ำ จำนวน 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง และอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ที่หากไม่มีมาตรการบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจน อาจทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอถึงสิ้นเดือนมิถุนายนได้
โดยในที่ประชุมเห็นชอบ 5 มาตรการหลัก พร้อมมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจนในการป้องกันก่อนปัญหาขาดแคลนน้ำจะเกิดขึ้น คือ 1.มอบหมายการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ และนิคมอุตสาหกรรมปรับลดการใช้น้ำ 10% 2.ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับลดปริมาณการใช้น้ำผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมลดลงในภาคตะวันออก 3.กรมชลประทานประสาน กปภ. และอีสท์วอเตอร์ จัดหาแหล่งน้ำสำรองจากภาคเอกชนเพื่อให้สามารถใช้น้ำได้ถึงสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 4.ให้กรมชลประทานพิจารณาผันแหล่งน้ำจากข้างเคียงมาเติมอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และ 5.ให้ กปภ.เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างตามแผนงานที่ได้รับจัดสรรงบกลางแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว.-สำนักข่าวไทย