ปทุมธานี 13 ก.พ.- รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ห่วงความปลอดภัยผู้บริโภคช่วงวาเลนไทน์ นำ สคบ.สุ่มตรวจดอกกุหลาบย่านตลาดไท ปทุมธานี ไม่พบสารปนเปื้อนฟอร์มาลีน
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อม พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการธุรกิจขายดอกไม้สด บริเวณตลาดดอกไม้-สังฆภัณฑ์ ตลาดไท จ.ปทุมธานี พร้อมสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำแช่ดอกกุหลาบ เพื่อตรวจหาสารปนเปื้อนจำพวกฟอร์มาลีน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ซื้อ โดยเฉพาะในช่วงวาเลนไทน์ จากการสุ่มตรวจวันนี้ สุ่มตรวจดอกกุหลาบ 30 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั้งหมด 15 ราย ไม่พบดอกกุหลาบที่มีสารปนเปื้อนฟอร์มาลีนแต่อย่างใด หากพบจะมีความผิด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 47 ทำให้หลงเชื่อ และ พ.ร.บ.การสาธารณสุข
นายเทวัญ กล่าวว่า พรุ่งนี้ (14 ก.พ.) เป็นวันแห่งความรัก หรือวาเลนไทน์ ประชาชนจะมอบความรักให้กัน โดยเฉพาะดอกกุหลาบ จึงร่วมมือกับ สคบ.ออกสุ่มตรวจสารปนเปื้อนฟอร์มาลีน ก่อนหน้านี้ มีการตรวจพบว่ามีผู้ค้านำฟอร์มาลีนมาปนเปื้อน เพื่อทำให้ดอกกุหลาบอยู่นาน จากการตรวจสอบวันนี้ที่ตลาดไท ไม่พบสารปนเปื้อนฟอร์มาลีนแต่อย่างใด ขอให้ประชาชนมั่นใจ และสบายใจได้ หากมาซื้อกุหลาบที่นี่ไม่มีสารปนเปื้อนแน่นอน ต่อจากนี้จะให้ทีม สคบ.ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านดอกไม้ในตลาดอื่นๆ เช่น อตก. ปากคลองตลาด ซึ่งสารฟอร์มาลีนที่ปนเปื้อนอยู่ในดอกไม้สดจะส่งผลให้ผู้ที่สูดดม ทำให้เกิดอาการแสบจมูก ไอ เจ็บคอ และหากสูดดมมากเกินไปอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจตลาด ผู้ค้าส่งและร้านจัดช่อดอกไม้ บอกว่าวาเลนไทน์ปีนี้ไม่คึกคักเท่าปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ประกอบกับได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ คนไทยหันไปใส่ใจสุขภาพมากขึ้น นำเงินไปซื้อหน้ากากอนามัยมากกว่า ทำให้ราคาดอกไม้ปีนี้เมื่อเทียบเคียงจากปีที่แล้ว ราคาต่ำและใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยดอกกุหลาบพันธุ์ไทย 1 กำ มีทั้งหมด 25 ดอก ราคา 250-300 บาท กุหลาบพันธุ์ฮอลแลนด์ขนาดดอกใหญ่ กำละ 25 ดอก ราคา 350-500 บาท และ ดอกกุหลาบนำเข้าจากต่างประเทศ กำละ 20 ดอก ราคาเฉลี่ยกำละ 500 บาท ส่วนใหญ่จะรับจากจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศจีน สำหรับช่อกุหลาบ มีตั้งแต่ราคา 200 บาทขึ้นไป
สำหรับขั้นตอนในการตรวจสอบฟอร์มาลีนขั้นตอนแรก นำน้ำแช่กุหลาบเทลงไปในขวดสารทดสอบที่ 1 ให้ได้ปริมาณ 1 ใน 3 ของขวด ปิดฝาเขย่าขวดจนสารทดสอบในขวดละลายหมด หลังจากนั้น นำน้ำจากขวดที่ 1 ที่ผ่านการทดสอบแล้วมาถ่ายใส่ขวดที่ 2 ที่มีสารทดสอบเช่นกัน ปิดฝาแล้วเขย่า และนำน้ำที่ผ่านการทดสอบจากขวดที่ 2 ถ่ายลงไปในขวดสารทดสอบที่ 3 ขวดสุดท้าย ปิดฝาและเขย่าจนสารเข้ากัน แล้วสังเกตที่สี หากพบน้ำมีสีตั้งแต่ สีชมพูไปถึงสีแดง แสดงว่าน้ำมีสารฟอร์มาลีนปนเปื้อนอยู่.- สำนักข่าวไทย