10 ประเด็นที่น่ากลัวของการนำเสนอข่าวเหตุการณ์กราดยิง

กทม. 10 ก.พ.-เฟซบุ๊กแฟนเพจ “คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา” เผยแพร่สรุป 10 ประเด็นที่น่ากลัวและน่าสนใจของการนำเสนอข่าวเหตุการณ์กราดยิง


ภายหลังเกิดเหตุการณ์กราดยิงมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก 2 ครั้งติดๆ กันในไทย หลายคนเริ่มมีคำถามถึงอิทธิพลการนำเสนอของสื่อเชื่อมโยงกับเหตุความรุนแรงซ้ำๆ แบบนี้หรือไม่ เมื่อวานนี้ เฟซบุ๊กแฟนเพจ คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา ได้เผยแพร่ สรุป 10 ประเด็นที่น่ากลัวและน่าสนใจของการนำเสนอข่าวเหตุการณ์กราดยิง งานวิจัยทางจิตวิทยาและบทเรียนที่มีค่าที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้สนใจแสดงความเห็น และแชร์ไปแล้วจำนวนมาก 


เนื้อหาของบทความ เผยว่าสหรัฐอเมริกามีสถิติที่น่าตกใจเกี่ยวกับเหตุกราดยิง โดยข้อมูลพบว่ามีเหตุกราดยิง 1 ครั้ง เกิดขึ้นทุก 2 สัปดาห์ ในขณะที่เหตุกราดยิงหรือยิงกันในโรงเรียนเกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 1 ครั้งในทุก 1 เดือน ทำให้มีงานวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาและอาชญากรรมที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย กับประเด็นที่เป็นที่พูดถึงอย่างมากในวันนี้ต่อบทบาทและจรรยาบรรณของสื่อในการรายงานข่าวที่อาจสร้างฆาตกรกราดยิงคนต่อไป โดยสรุปและรวบรวมไว้ 10 ข้อ

1. ผลการศึกษาสำคัญพบว่า ยิ่งสื่อนำเสนอรายละเอียดของเหตุการณ์ ภาพใบหน้า ชื่อของฆาตกร รวมทั้งวิธีที่ฆาตกรใช้ ยิ่งละเอียดมากเพียงใด ก็ยิ่งทำให้เกิดเหตุการณ์กราดยิงตามมาได้มากขึ้นเท่านั้น ผ่านกลไกของพฤติกรรมการเลียนแบบ


2. หากเกิดข่าวใหญ่เรื่องการกราดยิง จะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุกราดยิงตามมา และมันก็มักจะเกาะกลุ่มกันหรือเกิดใกล้กันเสมอ งานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2015 พบว่าหากมีเหตุกราดยิง แล้วมีทวิตเตอร์คำว่า “กราดยิง” มากกว่า 10 ทวิตต่อล้านทวิต ความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์ที่สองภายใน 7 วัน จะเพิ่มขึ้นได้มากกว่าร้อยละ 50

3. พฤติกรรมเลียนแบบเกิดขึ้นได้ เพราะคนร้ายที่อาจจะมีสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคงหรืออาจมีความแปรปรวนทางด้านจิตใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รู้สึกว่าคนร้ายคนก่อนหน้าในข่าวดัง มีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกับตน โดยเฉพาะปัจจัยทางเพศและอายุ 

4. ลักษณะการลงข่าวที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ ได้แก่ การลงรายละเอียดเหตุการณ์หรือพฤติการของความรุนแรง การลงรูปใบหน้า หรือรวมลงชื่อของฆาตกร การเจาะลึกประวัติชีวิตฆาตกร

5. ผู้เชี่ยวชาญทางอาชญากรรม พบว่าก่อนที่คนร้ายเหตุกราดยิงคนหนึ่งจะก่อเหตุ เขามักจะได้เห็นสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับการกราดยิงมาก่อน ข่าวเหล่านั้นทำให้เขารู้สึกถึง “ความเชื่อมโยง” บางอย่างทีคล้ายกับตน เกิดความรู้สึกว่ามีคนที่คิดเช่นเดียวกัน และทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะลงมือให้สำเร็จ เพราะเห็นคนต้นแบบและวิธีการอย่างละเอียดแล้วจากสื่อ

6. จากผลการศึกษาพบว่า ฆาตกรกราดยิงมักมีความอ่อนไหวและเปราะบางทางอารมณ์จิตใจ มีความรู้สึกว้าเหว่ และมองหาความสัมพันธ์แบบ Parasocial (ความเชื่อมโยงกับคนอื่นที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายจากการเข้าไปอ่านหรือเสพสื่อที่ให้รายละเอียดของฆาตกรคนก่อนๆ มีฆาตกรที่มหาลัยอิลลินอย ได้ลักพาตัวและฆ่านักศึกษาสาวชาวจีน ตำรวจพบหลักฐานว่าก่อนเกิดเหตุ ฆาตกรได้แชทคุยกับกลุ่มฆาตกรที่เคยก่อเหตุในเน็ตทั้งก่อนและหลังกระทำ

7. เมื่อสื่อนำเสนอเรื่องราวของฆาตกร ทั้งชื่อ ใบหน้า ปมปัญหา รายละเอียดการฆ่า กระบวนการนี้จะทำให้คนร้ายรายนั้นเริ่มเป็นที่รู้จัก อิทธิพลของการนำเสนอนี้ ส่งผลให้คนอีกหลายคนที่มีต้นทุนของจิตใจที่แปรปรวน อำมหิต หรือมีจิตใจที่โหดร้ายอยู่เป็นทุนเดิม รู้สึกถึงความเชื่อมโยงกับตน ทำให้รู้สึกได้ถึงสิ่งที่เหมือนตนเอง

8. ยิ่งฆาตกรได้พื้นที่สื่อ ได้ออกข่าวดัง ได้ออกแถลงข่าว มีภาพการทำแผน ฯลฯ ยิ่งมากเท่าไหร่ ในทางจิตวิทยาแล้วคนร้ายเหล่านี้ก็จะยิ่งรู้สึกว่า “ฉันได้รางวัล” จากความรุนแรงที่ได้ทำไป

9. แล้วสื่อควรจะนำเสนอข่าวอย่างไร เพื่อจะลดโอกาสในการเกิดเหตุกราดยิงในอนาคต

งานวิจัยหลายฉบับได้สรุปถึงแนวทางที่สื่อจะช่วยลดพฤติกรรมการเลียนแบบของคนร้ายกราดยิงได้ โดยการปฏิบัติตามแนวทางการนำเสนอข่าวขององค์การอนามัยโลก โดย

1. ไม่ควรลงข่าวถี่หรือนานจนเกินไป ไม่ลงหัวข่าวตัวโตเตะตา หรือไม่ใส่สีสันให้ตื่นเต้น หรือดึงดราม่าจนเกินเหตุ ควรเขียนข่าวสั้น กระชับ เฉพาะรายละเอียดที่จำเป็นเพื่ออธิบายเหตุการณ์ ลดระยะเวลาการรายงานข่าวโดยรวมของเหตุการณ์นี้

2. ไม่ควรอธิบาย พรรณนา รายละเอียดของพฤติกรรมการฆ่าจนถึงขั้นละเอียดยิบ จนนำไปปฏิบัติหรือต่อยอดพฤติกรรมได้ พึงระมัดระวังดาบสองคมที่อาจเกิดจากการทำอนิเมชั่นจำลองเหตุการณ์ให้ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ยิ่งอธิบายมากก็ยิ่งเลียนแบบได้มาก

3. ไม่ลงรูปถ่าย ภาพประกอบ หรือคลิปมากเกินควร โดยในสหรัฐอเมริกา กำลังมีไอเดียมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงการไม่ลงชื่อของคนร้ายในสื่อ หรือถ้าจำเป็นก็ควรลงให้น้อยที่สุด 

4. ไม่ขุดคุ้ยเรื่องราวชีวิตของฆาตกรมาประโคมเผยแพร่ ไม่เผยแพร่ประโยคคำพูด การแถลง คลิปสารภาพผิด ทั้งจากไฟล์เสียง วิดีโอ หรือแม้แต่แคปเจอคำพูดจากเฟชส่วนตัวของ ฆาตกร ฯลฯ กลยุทธ์ที่แนะนำคือ เมื่อต้องนำเสนอเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือรายละเอียดใดๆของฆาตกร เช่น การเตรียมการ การวางแผนการยิง ให้สื่อพยายามเชื่อมโยงถึงความน่าอับอาย ความน่ารังเกียจ หรือความขี้ขลาดตาขาวของฆาตกรเสมอ การศึกษาในสหรัฐพบว่า อัตราการกราดยิงมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อสื่อหันมานำเสนอข่าวด้วยกลยุทธ์นี้

5. ไม่ขุดคุ้ยหรือพรรณนาแรงจูงใจ ต้นสายปลายเหตุ หรือที่มาของการฆ่าแบบละเอียดจนเกินไป เพราะในทางจิตวิทยาแล้ว มนุษย์ทุกคนจะมีแนวโน้มที่จะเลียนแบบคนที่เรารู้สึกว่าเขามี “อะไร” ที่คล้ายกันกับเราเสมอ เมื่อนำเสนอถี่เข้าถี่เข้า จากที่ไม่ทันสังเกตเห็นก็กลับเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การนำเสนอซ้ำๆว่าฆาตกรทำลงไปเพื่อแก้แค้นจากการที่เขาเคยถูกรังแกมาหลายปี ข้อมูลเช่นนี้เมื่อนำเสนอซ้ำๆ จะส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงว่า การกราดยิงก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำได้

6. ควรลดการไลฟ์สดหลังเกิดเหตุการณ์ลง แม้จะขายได้ แต่การไลฟ์สดเพิ่มระดับของ “ความตื่นเต้น” ต่อเหตุการณ์ ที่ทำให้ความสนใจของสังคมเพิ่มขึ้น ทำให้ฆาตกรและคนที่จะเป็นฆาตกรคนต่อไปรับรู้ได้ถึง “ความหอมหวาน” และ “รางวัล” ที่ได้รับเมื่อลงมือฆ่า คำแนะนำคือ ควรเลี่ยงไปใช้การนำเสนอในรูปแบบการอัพเดตที่เป็นลายลักษณ์อักษรแทน สิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะลดความหวานของของรางวัลเท่านั้น แต่มันอาจช่วยลดความสนใจโดยรวมของสังคม ช่วยป้องกันการเลียนแบบของฆาตกรคนต่อไปได้

10. จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์ พูดถึงเหตุกราดยิงในเมืองไครสต์เชิร์ช มีนาคมปีที่แล้ว ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 50 ศพ อย่างมีวิสัยทัศน์ โดยประกาศในสภาว่า “เธอจะไม่มีวันเอ่ยถึงชื่อของฆาตกรเด็ดขาด และประชาชนจะไม่ได้ยินชื่อของฆาตกรจากปากของเธออย่างแน่นอน เขาจะต้องได้รับโทษสูงสุดตามกฎหมาย และจะไม่ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ นั่นคือการโด่งดังเป็นที่รู้จักแต่บุคคลที่สมควรได้รับการพูดถึง และควรให้เกียรติจริงๆ คือเหล่าคนที่สูญเสียจากเหตุการณ์อันน่าสะเทือนใจครั้งนี้มากกว่า”

บทความของคลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา ลงท้ายสรุปขอให้สื่อไทยจงเติบโต ปรับปรุง และเรียนรู้จากความผิดพลาด อย่าให้ความชั่วร้ายนี้ได้มีพื้นที่ในสื่อ ไม่ให้ราคากับเรื่องราวชีวิตของฆาตกร แต่ให้โฟกัสไปที่เรื่องราวของผู้เสียสละ การทำงานที่เหน็ดเหนื่อยและความกล้าหาญของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวิธีที่จะป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะนี้ในอนาคต จะเป็นแนวทางที่เหมาะสมอย่างยิ่ง และหวังให้เหตุกราดยิงที่น่าเศร้าในครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายของไทย.-สำนักข่าวไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิสามัญคนร้ายกราดยิงเมืองโคราชแล้ว    
ผู้ว่าฯ โคราช แถลงสรุปเหตุกราดยิง ยอดตายอยู่ที่ 30
ร่าง 2 นายตำรวจหน่วยอรินทราช 26 ถึง กทม. กองเกียรติยศตั้งขบวนต้อนรับสมเกียรติ
ประชาชนทยอยวางดอกไม้อาลัยเหยื่อกราดยิงโคราช 

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ชนแล้วหนี! 2 หนุ่มกลัวถูกจับดึงสลักระเบิดดับ

2 หนุ่มชนแล้วหนี โบกรถมาขึ้นสามล้อเครื่อง ตำรวจตามกระชั้นชิด ตัดสินใจดึงสลักระเบิด แต่สะดุดล้มระเบิดตูมสนั่นดับ 1 ส่วนอีกคน ถูกจับโดยละม่อม

“ไบเดน” เปิดทำเนียบขาวต้อนรับ “ทรัมป์” ถกถ่ายโอนอำนาจ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐเปิดห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาวหารือนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดี ซึ่งต่างให้คำมั่นการถ่ายโอนอำนาจจะเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

“อี้ แทนคุณ” เผยคดีใหม่ “ฟิล์ม” ชวนลงทุนคล้าย forex เสียหายกว่า 60 ล้าน

“อี้ แทนคุณ” เผยคดีใหม่ “ฟิล์ม รัฐภูมิ” ชักชวนลงทุนในดูไบ คล้าย forex ความเสียหายกว่า 60 ล้านบาท ขณะที่อีกฝ่ายอ้างนำเงินไปลงทุนจริงแต่ขาดทุน

ข่าวแนะนำ

พะยูนตัวแรกของฤดูกาลท่องเที่ยวโผล่

นับตั้งแต่เปิดฤดูกาลท่องเที่ยว 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เพิ่งพบพะยูนบริเวณหน้าเกาะลิบง จังหวัดตรัง เป็นตัวแรก สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวอย่างมาก

“เจ๊พัช” ขอโทษรัฐมนตรีน้ำ ยืนยันไม่รู้จักส่วนตัว

“กฤษอนงค์” โพสต์ขออภัยรัฐมนตรีน้ำและคุณพ่อ ปมคลิปเสียงแอบอ้าง พร้อมขอน้อมรับผิดไว้แต่เพียงผู้เดียว แจงเป็นการสนทนาแนวทางส่งเสริมอาชีพเท่านั้น

“หนุ่ม กรรชัย” งดเคลียร์ “ฟิล์ม” ย้ำดำเนินคดีถึงที่สุด

“หนุ่ม กรรชัย” ประกาศตัดสัมพันธ์ “ฟิล์ม รัฐภูมิ” ย้ำดำเนินคดีถึงที่สุด งดเคลียร์ ซัดเป็นคนไร้ศักดิ์ศรี ชี้เรื่องนี้ไม่ต้องเตือน ให้ย้อนไปดูที่บ้านได้สั่งสอนหรือไม่