กทม.10ก.พ.-นักวิชาการอาชญาวิทยา แนะ รัฐควรถอดบทเรียน เหตุกราดยิง ป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบ หามาตรการป้องกันเหตุซ้ำร้อย พร้อมพัฒนาองค์ความรู้รับมือกับเหตุเผชิญหน้า ให้เจ้าหน้าที่และประชาชน
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงเหตุการณ์กราดยิงในตัวเมืองโคราช เมื่อวันที่8กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่า ต้องมีการถอดบทเรียนในหลายประเด็น คือ ต้องมีการสอบสวน มูลเหตุและแรงจูงใจในการก่อเหตุมาจากเรื่องใด ควรดำเนินการสอบสวนอย่างจริงจัง เพื่อหามาตรการและกำหนดแนวทางการป้องกันการก่อเหตุประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ซึ่งการก่อเหตุกราดยิงในต่างประเทศ หลังเกิดเหตุต้องมีการตรวจสอบและสอบสวนอย่างจริงจัง เพื่อหาสาเหตุแรงจูงใจหรือมูลเหตุ และเน้นการพัฒนาองค์ความรู้การประเมินผลของเจ้าหน้าที่ที่ครอบครองอาวุธในเรื่องภาวะผู้นำ เนื่องจากผู้ก่อเหตุเป็นทหารชั้นผู้น้อยแต่สามารถไปฆ่าเจ้านายตัวเอง สะท้อนให้เห็นว่ามีความเครียดหรือกดดัน ถึงขั้นยิงเจ้านายตังเองได้ หน่วนงานที่ใช้อาวุธ ทั้ง ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง หน่วยงานด้านความมั่นคง ผู้บังคับบัญชาควรต้องศึกษาในเรื่องนี้จริงจัง ยกตัวอย่าง ตำรวจในประเทศเยอรมัน ให้ความสำคัญในการประเมินภาวะผู้นำในแต่ละระดับ หากมีความรู้ดี ทักษะดี แต่ไม่มีภาวะความเป็นผู้นำก็ไม่สามารถก้าวหน้าหรือเป็นผู้บังคับบัญชาได้
ส่วนที่2 ระดับนโยบาย ต้องให้ความสำคัญเรื่องการรักษาความปลอดภัย ในระดับพื้นที่มากขึ้น ทั้งกำลังคน สายตำรวจ อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยต่างๆ งบประมาณ ดูว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนในการเผชิญเหตุและรับมือหากเกิดสถานการณ์เช่นนี้ ตามมาตรฐานสากล หากคนร้ายมีอาวุธสงคราม เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีการควบคุมพื้นที่ และจำกัดพื้นที่เพื่อไม่ให้คนร้ายก่อเหตุในวงกว้างหรือกันประชาชนไม่เข้ามาใช้เส้นทางคนที่ร้ายกำลังใช้เส้นทางอยู่ สิ่งเหล่านี้ต้องมาเรียนรู้พร้อมกันและต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ของตำรวจและพัฒนารูปแบบในการสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่อย่างไรเพื่อลดความสูญเสีย เนื่องจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ เพื่อการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพและการรัดกลุม
ส่วนที่3 การสร้างตัวแบบที่ดี เพราะโลกสมัยนี้มีทั้งโลกของความเป็นจริงและโลกออนไลน์หรือโลกเสมือน โลกแห่งความเป็นจริงอาจไม่ได้รับการยอมรับ แต่โลกออนไลน์กับได้รับการยอมรับ แม้แต่โพสต์เรื่องรุนแรง แต่กลับมาคนชื่นชม จึงต้องสร้างตัวแบบที่ดีให้คนในสังคมเป็นแบบอย่าง
ส่วนที่4.ต้องเรียนรู้ร่วมในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบ ในช่วงขณะเกิดเหตุการณ์อาจมีความสุ่มเสี่ยงให้คนร้ายทราบความเคลื่อนไหวในการปฏบัติงานของเจ้าหน้าที่ เช่น มีการนำเสนอว่า ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่เข้าไปถึงจุดไหนและมีใครหลบซ่อนอยู่จุดไหนบ้าง ซึ่งคนร้ายมีการรับชมการถ่ายทอดสดของสื่อผ่านมือถือได้เช่นกันจะทำให้คนร้ายรู้ความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่และจุดซ่อนตัวของคนที่กำลังติดอยู่ด้านใน
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ เชื่อว่า แรงจูงใจหลัก มูลเหตุสำคัญ น่าจะมาจากความเครียดเรื่องส่วนตัว ในเรื่องการไม่ได้รับเงินค่านายหน้าตามที่ตกลงกัน และระบบของงาน เนื่องจากผู้ก่อเหตุเป็นทหารชั้นผู้น้อย การไปเรียกร้องสิทธิ์ต่างๆ คงทำได้อยาก โดยระบบทำให้เกิดความเครียดสะสม มีการโพสต์ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวว่าจะมีการก่อเหตุ มีการโพสต์รูปปืน ต้องเรียนรู้ร่วมกันว่าต่อไปหากมีเพื่อนร่วมงาน โพสต์ลักษณะนี้ ต้องรีบเข้าไปคุย เจ้านายต้องเรียกมาคุย ทำความเข้าใจ เพื่อป้องกันก่อนถึงจุดวิกฤติ ก่อเหตุรุนแรง ส่วนมูลเหตุการฆ่าผู้บริสุทธิ์ นั้น เชื่อว่า เกิดจากการนัดคุยที่ไม่ลงตัว และคนร้ายอาจเข้าใจว่าถูกเอาเปรียบ เลยตัดสินใจยิงเจ้านายและคนที่เกี่ยวข้อง และชิงอาวุธสงครามในค่ายทหาร เพราะเชื่อว่าตำรวจจะต้องติดตามจับกุมตัว จึงต้องมีอาวุธสงครามเพื่อป้องกันตัว และต้องหลบหนีไปในที่ที่สามารถนำมนุษย์มาเป็นโล่กำบังได้ จึงเลือกห้างสรรพสินค้า ซึ่งธรรมชาติของคนร้ายกราดยิงคนในที่สาธารณะ เวลาก่อเหตุจะเลือกสถานที่คือชุมชน โรงเรียน ศูนย์การค้า เพราะการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังมาก ในแต่ละคดีมีความยากง่ายต่างกัน ผู้ก่อเหตุมีทักษะการยิงปืน และมีอาวุธสงคราม การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่คำนึงถึงชีวิตของประชาชนสูงมาก จึงไม่สามารถใช้ความรุนแรงระงับเหตุได้ตั้งแต่แรก หากผู้ก่อเหตุเกิดการต่อสู้ การสูญเสียจะมากกว่านี้ได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการปฏิบัติการในครั้งนี้
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ ยอมรับว่าลักษณะการก่อเหตุกราดยิงในที่สาธารณะครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และมีผู้เสียชีวิตถึง 30 คน บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ต้องถอดบทเรียนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งดูรูปแบบการป้องกันแก้ไขเหตุลักษณะนี้ในต่างประเทศด้วย เช่น ในสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีเหตุกราดยิงมากที่สุดในโลก ได้มีการศึกษาและทำวิจัยว่า แรงจูงใจในการก่อเหตุของคนร้ายคืออะไร จัดทำระดับนโยบาย เพื่อวางแผนในการรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอีก ทั้งรัฐ เอกชน ประชาชนในพื้นที่ ต้องบูรณาการร่วมกัน สำหรับประเทศไทยเหตุกราดยิง อาจจบในทางคดีเนื่องจากคนร้ายเสียชีวิต แต่เพิ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับประเทศไทยที่ต้องมาถอดบทเรียน เรียนรู้ ปรากฏการณ์อาชญากรรมร้ายแรงที่เกิดขึ้นในโลก นอกเหนือจากเหตุการณ์ในประเทศไทยเองเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต
นอกจากนี้ยังแนะนำประชาชน หากเจอเหตุกราดยิงในที่สาธารณะ ตามมาตรฐานสากล หากประชาชนอยู่ในพื้นที่ชุมชน ห้าง โรงเรียน หากได้ยินเสียงปืนดัง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้น ให้วิ่งออกจากที่เกิดเหตุ โดยใช้บันไดหนีไฟ หลบหนีออกมาให้เร็วที่สุด ห้ามใช้ลิฟท์ เนื่องจากคนร้ายอาจกราดยิงเข้าไปในลิฟท์ หากอยู่ใกล้กับเสียงปืน ให้ตั้งสติและสังเกตุว่าเสียงปืนอยู่ในทิศทางไหน หากพบว่าคนร้ายอยู่ไกลให้หาทางหลบหนี หากพบว่าอยู่ใกล้และอยู่ชั้นเดียวกัน ให้หาทางหลบซ่อนตัว โดยการปิดเสียงเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด และหาช่องทางติดต่อสื่ออสารกับคนภายนอก โดยการส่งข้อความ แจ้งตำแหน่ง พิกัดที่หลบอยู่ เพื่อส่งต่อเจ้าหน้าที่ประเมินการช่วยเหลือ ทรัพย์สินมีค่าทุกชนิดให้ทิ้ง บางคนลืมกระเป๋าไว้บนโต๊ะ จะวิ่งกลับไปเอา ขอให้สละไปเลย หรือรองเท้าหลุด จะวิ่งกลับไปเอา บางครั้งต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ร่วมกัน ในมาตรฐานสากล หากคนร้ายมาจวนตัวและรู้ว่าตัวเองอยู่ตำแหน่งนี้ ต้องคิดเพื่อต่อสู้ ซึ่งจะมีการเรียนการสอนในโรงเรียน และมีการเผยแพร่องค์ความรู้จากหน่วยงานสู่สาธารณ
ทั้งนี้ ในต่างประเทศมีการศึกษาพบว่า เหตุกราดยิงที่มีความต่อเนื่อง เป็นพฤติกรรมที่เกิดมาจากการเลียนแบบกันได้ ซึ่งเกิดจากการดูจากสื่อหรือดูจากข่าว และเรียนรู้ข้อมูลนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบ สื่อมีส่วนสำคัญมากจึงไม่สนับสนุนการนำเสนอภาพก่อเหตุถี่ๆซ้ำๆ จะทำให้คนซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้นได้ หากเปลี่ยนเป็นการ นำเสนอภาพฮีโร่คือ เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บ เจ้าหน้าที่พยาบาล พลเมืองดี ผู้ที่กล้าหาญ กล้าคิด กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ละเมิดกฏหมาย แทน.-สำนักข่าวไทย