อุบลราชธานี 10 ก.พ. – การแก้ปัญหาภัยแล้งของชุมชนหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำโขง จ.อุบลราชธานี ซึ่งก่อนหน้านี้เคยขาดแคลนน้ำถึงขั้นต้องต่อแถวรอตักน้ำจากบ่อน้ำซึม แต่ปัจจุบันมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ หลังชุมชนช่วยกันสำรวจและสร้างแหล่งน้ำ พร้อมนำนวัตกรรมของชุมชนมาใช้ในระบบประปาหมู่บ้าน เพื่อประหยัดพลังงาน
จากลานหินกว้าง ลักษณะเป็นร่องหิน ได้กลายเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชาวบ้านผาชัน ต.สำโรง อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี เมื่อชุมชนร่วมกันแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำตั้งแต่กว่า 10 ปีก่อน ด้วยการสร้างฝายวังอีแร้ง 1 บริเวณลานหินแห่งนี้ ต่อมาสร้างฝายวังอีแร้ง 2 เหนือฝายวังอีแร้ง 1 เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรอง ทั้งสองฝายรับน้ำหลากจากลำห้วยภูโลง จากที่เคยไหลหลากลงแม่น้ำโขง ก็ถูกกักเก็บไว้ใช้ในชุมชน ทั้งเพื่อการเกษตรและผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน
ฝายวังดีแร้ง 1 เป็นแหล่งน้ำดิบหลักผลิตน้ำประปากระจายผ่านระบบท่อ ให้ชาวบ้านกว่า 100 หลังคาเรือน โดยใช้หลักแรงโน้มถ่วงของโลก ไม่ใช้พลังงานไฟฟ้า ส่วนชาวบ้านอีกกว่า 20 ครัวเรือนที่อยู่สูงเหนือฝาย จะใช้มอเตอร์สูบน้ำผ่าน “ระบบแอร์แว” อุปกรณ์เสริมแรงดันน้ำที่ชุมชนร่วมกันวิจัยขึ้น
ปีนี้ที่ผ่านมาฝนน้อย ส่งผลให้น้ำทั้งสองฝายลดระดับลงอย่างรวดเร็ว เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ชุมชนเตรียมรับมือวางแผนบริหารจัดการน้ำ คือ หากฝายวังอีแร้ง 1 น้ำแห้ง จะปล่อยน้ำจากวังอีแร้ง 2 ผ่านท่อเติมฝายวังอีแร้ง 1 และหากยังวิกฤติ จะนำน้ำจากบุ่งพะละคอนริมแม่น้ำโขงขึ้นมาใช้
จากการบริหารจัดการน้ำของคนในชุมชน ได้เปลี่ยนหมู่บ้านผาชัน จากหมู่บ้านขาดน้ำเป็นหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์ ชุมชนยังสร้างฝายชะลอน้ำบนภูโลง เพื่อรักษาความชุ่มชื่นของป่า และกักเก็บน้ำเพื่อใช้ทำการเกษตร. – สำนักข่าวไทย