กรุงเทพฯ 6 ก.พ. – ด่วน!!! คมนาคม เดินหน้าโปรเจคแก้วิกฤติจราจร ผุดอุโมงค์ทางด่วนลอดแม่น้ำเจ้าพระยาเส้นแรกของไทย เตรียมเสนอ คจร. เดือนมีนาคมนี้
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลัง Mr.Hirai Hideki ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) เข้าพบว่า ทาง MLIT ได้เข้ามารายงานโครงการศึกษาของการดำเนินงานคณะกรรมการขับเคลื่อน (Steering Committee) เกี่ยวกับโครงการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างอุโมงค์ทางด่วนลอดแม่น้ำเจ้าพระยา จากถนนนราธิวาส – สำโรง ระยะทาง 8.7 กม ซึ่งโครงการดังกล่าวทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ได้ร่วมกับ MLIT เพื่อศึกษาโครงการที่จะนำมาแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครชั้นในออกไปยังรอบเขตกรุงเทพมหานครออกไปต่างจังหวัด ส่วนรูปแบบการลงทุนก่อสร้างนั้นมีหลายรูปแบบต้องรอจนกว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จ
นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากกระทรวงคมนาคมมีความต้องการที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาจราจรทั้งในเขต กทม. และปริมณฑลทั้งระบบ และจะเห็นว่าการจราจรในเขตถนนสีลม สาทร บางรัก และ ถนนนราธิวาส มีปริมาณการจราจรที่คับคั่งมาก ดังนั้น สนข.จึงได้มีความร่วมมือที่จะเข้าศึกษาในโครงการต่างๆ ซึ่งโครงการก่อสร้างทางด่วนลอดแม่น้ำเจ้าพระยาเป็น 1 หลายๆ โครงการที่จะต้องมีการดำเนินการ โดยภายในต้นเดือน มี.ค.นี้ทาง สนข. จะเสนอ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก หรือ คจร. ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
สำหรับโครงการทางด่วนลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 8.7 กม. จากถนนนราธิวาส – สำโรง ซึ่งจะเริ่มต้นเชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานครกับถนนนราธิวาสลอดแม่น้ำเจ้าพระยาไปฝั่งตะวันออกที่ถนนสรรพาวุธเชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานครกับสี่แยกบางนา เพื่อเชื่อมขึ้นทางด่วนออกไปทางถนนบางนา โดยถนนจะเป็น 4 ช่องจราจรไป – กลับ
ส่วนประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติงบประมาณ ประจำปี 2563 จะเป็นโมฆะ ตามที่มีผู้ยื่นคำร้องจากกรณีมีการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส.หรือไม่ ในวันพรุ่งนี้ ประเด็นดังกล่าว นายศักดิ์สยาม ระบุว่า ไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาในลักษณะใด จะไม่ส่งผลกระทบกับแผนการลงทุนที่จะใช้งบประมาณประจำปี 2563 ในการเบิกจ่ายเริ่มต้นโครงการ โดยจากการหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า สำหรับโครงการที่มีความจำเป็นในช่วงเริ่มต้นของโครงการ หากยังไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ ก็สามารถใช้แนวทางจัดหาแหล่งเงินกู้ เพื่อนำมาเบิกจ่ายก่อน จนกว่าระบบการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 จะเริ่มเบิกจ่ายเข้าระบบได้ โดยนายกรัฐมนตรีระบุชัดเจนว่า ปัจจุบันนี้เพดานหนี้สาธารณะของไทย ยังมีเหลืออยู่อีกร้อยละ 20 ที่สามารถจัดหาแหล่งเงินกู้เพิ่มได้ โดยไม่กระทบวินัยการเงินการคลัง . – สำนักข่าวไทย