กรุงเทพฯ 5 ก.พ. – กรมชลประทานกำหนดแผนรองรับการใช้น้ำอีอีซี 20 ปีข้างหน้า ย้ำต้องพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ จัดทำโครงการผันน้ำจากจันทบุรีเสริม อยู่ระหว่างพิจารณา EHIA พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เตรียมมาตรการรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา โดยการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และบริษัท East Water ประเมินว่าปี 2569 หรือ 7 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นจาก 350 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็น 750 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลประทานได้พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อสำรองน้ำไว้แล้ว 781 ล้าน ลบ.ม. และอีก 10 ปี คือ พ.ศ. 2579 คาดว่าความต้องการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมและการประปา 1,000 ล้าน ลบ.ม. จึงกำหนดแผนพัฒนาแหล่งน้ำ 754 โครงการ เพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บน้ำได้อีก 1,621 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 1,507,813 ไร่ ดังนั้น ปี 2579 จะมีพื้นที่ชลประทานภาคตะวันออกเพิ่มเป็น 3.7 ล้านไร่ สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าทั้ง 8 จังหวัดจะมีน้ำใช้เพียงพอและไม่เกิดปัญหาแย่งน้ำระหว่างพื้นที่เกษตรและอุตสาหกรรมแน่นอน
ล่าสุดกรมชลประทานได้ลงนามข้อตกลง (MOU) กับคณะกรรมการลุ่มน้ำคลองวังโตนด เพื่อรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการแบ่งปันน้ำจากลุ่มน้ำคลองวังโตนด อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรีไปยังพื้นที่อีอีซี ซึ่งจัดทำเป็นโครงการเชื่อมโยงระบบอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรีไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง ผ่านระบบผันน้ำผ่านท่อยาว 45.69 กิโลเมตร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 9 เครื่อง รวมอัตราสูบ 5 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือวันละประมาณ 432,000 ลบ.ม. ขณะที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนดมีปริมาณน้ำท่ารายปีประมาณ 1,237 ล้าน ลบ.ม. ประกอบด้วย ลำน้ำสำคัญ 4 สาขา ได้แก่ คลองหางแมว คลองวังโตนด คลองประแกด และคลองพวาใหญ่ ปัจจุบันกรมชลประทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองประแกด ความจุ 60 ล้าน ลบ.ม. เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองพวาใหญ่ ความจุ 68 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ความจุ 80.7 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเสร็จปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ ด้านอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ความจุ 99.5 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยจะเริ่มโครงการก่อสร้างปีงบประมาณ 2564 หากเสร็จจะทำให้มีน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง รวมกัน 308.5 ล้าน ลบ.ม.
นายทองเปลว กล่าวถึงระบบผันน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำในเขตอีอีซี ว่า ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำบางพระ และกลุ่มอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 5 แห่งในเมืองพัทยา ความจุรวมประมาณ 894 ล้าน ลบ.ม. โดยมีระบบท่อผันน้ำเป็นตัวเชื่อมโยงถึงกันเพื่อเชื่อมโยงน้ำจากระยองไปยังชลบุรี เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำให้แก่พื้นที่สำคัญของประเทศทั้งด้านเกษตรกรรม พาณิชยกรรม การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม
สำหรับฤดูแล้งปีนี้มีน้ำต้นทุนน้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนช่วยกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะเร่งด่วน ได้แก่ กปภ. และ East Water สนับสนุนน้ำเข้ามาเสริมในระบบปริมาณกว่า 20 ล้าน ลบ.ม. อีกทั้งสถาบันน้ำและพลังงานเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขอความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10 ส่วนกรมชลประทานได้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ โดยขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย และให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า.-สำนักข่าวไทย