กรุงเทพฯ 4 ก.พ. – คก.ปฏิรูปประเทศด้านพลังงานเสนอ ยกเว้นข้อกำหนดไฟฟ้าของประเทศที่ให้ กฟผ.เป็นผู้ซื้อรายเดียว เพื่อให้ภาคเอกชน-ประชาชน ซื้อขายไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อประหว่างกันได้ พร้อมยกธงขาวโอน กฟน.-กฟภ. สังกัดกระทรวงพลังงาน
ในวันนี้ (4 ก.พ.) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศได้จัดรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำเสนอ ครม.และรัฐสภาต่อไป นายพรชัย รุจิประภา เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้เสนอปรับปรุงแผนเพื่อให้สอดคล้องเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง และความเป็นไปได้ในการดำเนินการ โดยในส่วนของการส่งเสริมกิจการไฟฟ้า เพื่อเพิ่มการแข่งขันและโซลาร์รูฟท็อปเสรี ได้เสนอแก้ไขโครงสร้างกิจการไฟฟ้าแบบ Enhanced Single-Buyer (ESB) ที่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว ก่อนส่งกระแสไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยกระทรวงพลังงานควรเสนอ ครม.ยกเว้น ESB ภายในเดือนเมษายนนี้ และปี 2564 ดำเนินโครงการ ERC Sandbox และส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปอย่างเสรีเต็มรูปแบบ
“ปัจจุบันนี้หลายอาคารผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป เตรียมแผนซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน แต่ดำเนินการไม่ได้ เพราะติดระบบ ESB ดังนั้น หากมีการยกเว้นการใช้ ESB ในพื้นที่ ERC Sandbox คาดว่าโซลาร์รูฟท็อปจะก้าวและลดการพึ่งพาฟอสซิล เป็นการปลดล็อกตามเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ” นายพรชัย กล่าว
ส่วนที่เดิมคณะกรรมการปฏิรูปเสนอ โดยโอนย้าย กฟน.และ กฟภ. จากกระทรวงมหาดไทยมาสังกัดกระทรวงพลังงาน เช่นเดียวกับ กฟผ.นั้น พบว่ามีปัญหาทางปฏิบัติที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้น เพื่อลดการซ้ำซ้อนการลงทุน ต้องกำหนดแผนลงทุนบูรณาการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐายด้านพลังงาน ระยะ5ปี (2566-2570) หากการลงทุนใด เกินมูลค่า 1,000 ล้านบาท แต่หากไม่อยู่ในแผนจะไม่สามารถลงทุนได้
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 ในพื้นที่ช่ายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต การพัฒนาการแข่งขันนำเข้าและส่งออก ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) กำหนดให้มีผู้ประกอบการแอลเอ็นจีเต็มรูปแบบ 1-3 รายในปี 2565 รวมทั้งส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งคาดว่าจะลดต้นทุนพลังงานภาคอุตสาหกรรมได้ไม่น้อยกว่า 2,600 ล้านบาทภายในปี 2565 สามารถประหยัดงบประมาณภาครัฐเกือบ 8,000 ล้านบาท ส่งเสริมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (อีวี ) ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS ) พร้อมสนับสนุนพืชพลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน หากใช้ได้ร้อยละ 10 ก็จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 130,000 ล้านบาท/ปี จากมูลค่าพลังงานมีสัดส่วนร้อยละ 16 ของจีดีพีประเทศ. -สำนักข่าวไทย