กรุงเทพฯ 3 ก.พ. – อธิบดีกรมชลประทานระบุใช้แผนที่ใต้น้ำ 3 มิติคลองพระยาบันลือ ซึ่งเชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีนและเจ้าพระยา พบสันดอน 10 จุด เป็นอุปสรรคการระบายน้ำ เพื่อเจือจางค่าความเค็ม สั่งขุดลอกด่วนเพื่อใช้บริหารจัดการน้ำในช่วงน้ำทะเลหนุนตลอดฤดูแล้ง มั่นใจควบคุมค่าความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังได้
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการจัดทำแผนที่สำรวจภูมิประเทศด้านวิศวกรรมแบบ 3 มิติคลองพระยาบันลือ ซึ่งเชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นคลองสำคัญรองรับน้ำที่ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาควบคุมค่าความเค็มของลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ทำให้เห็นสภาพท้องน้ำตลอดคลองที่ยาว 42.5 กิโลเมตร พบสันดอนที่เป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำ 10 จุด ระยะทางยาวประมาณ 15 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่เร่งขุดลอกเพื่อให้น้ำไหลสะดวกและใช้บริหารจัดการน้ำ โดยก่อนถึงช่วงน้ำทะเลหนุน จะสูบน้ำเข้ามาเก็บกักไว้ในคลองได้ในปริมาณที่เหมาะสม จากนั้นเมื่อลิ่มความเค็มรุกเข้ามา น้ำจืดจะช่วยเจือจางสูบออก เพื่อควบคุมค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายไม่ให้เกินมาตรฐาน โดยเกณฑ์เฝ้าระวังอยู่ที่ 0.25 กรัม/ลิตร สำหรับผลิตน้ำประปานั้น ค่าความเค็มต้องไม่เกิน 0.5 กรัม/ลิตร การเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ไม่เกิน 0.75 กรัม/ลิตร และน้ำใช้ภาคการเกษตรต่อเนื่อง (ไม้ผล) ไม่เกิน 5 กรัม/ลิตร อีกมาตรการ คือ ขอความร่วมมือปิดประตูน้ำสองริมฝั่งคลองพระยาบันลือเพื่อให้แม่น้ำเจ้าพระยาได้รับน้ำเต็มจำนวน ไม่ไหลออกข้างทาง ทำให้ขณะนี้น้ำสามารถเดินทางและไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพาะยาได้สะดวกมากขึ้น
นายทองเปลว กล่าวว่า การผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองที่มายังแม่น้ำเจ้าพระยาจะผันผ่านทางคลองจระเข้สามพันและคลองท่าสาร-บางปลามาลงแม่น้ำท่าจีน จากนั้นสูบน้ำผ่านสถานีสูบน้ำพระยาบันลือไปออกที่ประตูระบายน้ำสิงหนาท 2 ก่อนจะลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ทั้งนี้ การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อช่วยประหยัดการใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เนื่องจากปริมาณน้ำของทั้ง 4 เขื่อนหลักอยู่ในเกณฑ์น้อย แต่การวางแผนบริหารจัดการที่ทำไว้ล่วงหน้าและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงสุดตามแผน จะส่งผลให้มีน้ำเพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝน.-สำนักข่าวไทย