กรุงเทพฯ 2 ก.พ.-นิด้าโพล สำรวจความเห็นประชาชน เรื่องส.ส.เสียบบัตรแทนกัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 80.14 เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไร้จิตสำนึกของส.ส. เรื่องความรับผิดชอบนั้น ร้อยละ 45.85 เห็นว่า ผู้มีส่วนร่วมในการเสียบบัตรแทนกัน ควรลาออกจากตำแหน่ง
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ส.ส. เสียบบัตร แทนกัน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29 – 31 มกราคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,254 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับกรณี ส.ส. เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ในการโหวตร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ 2563 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับข่าว ส.ส. เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ในการโหวตร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ 2563 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.14 ระบุว่า เป็นการกระทำที่ไร้จิตสำนึกของ ส.ส. รองลงมา ร้อยละ 13.56 ระบุว่า เป็นเรื่องปกติ เกิดขึ้นบ่อย ร้อยละ 9.81 ระบุว่า เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจประเทศ หาก ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณต้องตกไป ร้อยละ 5.18 ระบุว่า เป็นเรื่องของความประมาท รู้เท่าไม่ถึงการณ์ของ ส.ส. ร้อยละ 2.31 ระบุว่า เป็นเรื่องของนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ต้องการแก้แค้นที่สอบตก ส.ส. พัทลุง และร้อยละ 0.96 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เป็นการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญ 2560
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงผู้ที่ควรรับผิดชอบต่อกรณี ส.ส. เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ในการโหวตร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ 2563 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.85 ระบุว่า ส.ส. ที่มีส่วนร่วมในการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ควรลาออกจากตำแหน่ง รองลงมา ร้อยละ 19.62 ระบุว่า นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรร่วมรับผิดชอบ ด้วยการลาออกจากตำแหน่ง ร้อยละ 19.54 ระบุว่า สภาควรมีมติขับไล่ ส.ส. ที่มีส่วนร่วมในการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ให้ออกจากตำแหน่ง ร้อยละ 11.96 ระบุว่า ส.ส. ที่มีส่วนร่วมในการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ควรเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต
ร้อยละ 11.56 ระบุว่า พรรคการเมืองที่มี ส.ส. ร่วมในการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ควรร่วมรับผิดชอบด้วยการถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล ร้อยละ 10.13 ระบุว่า ส.ส. ที่มีส่วนร่วมในการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ต้องจ่ายค่าเสียหายให้รัฐ ที่ทำให้การใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต้องล่าช้าออกไป ร้อยละ 9.01 ระบุว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล ควรร่วมรับผิดชอบ ด้วยการลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 8.61 ระบุว่า พรรคการเมืองที่มี ส.ส. ร่วมในการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ต้องจ่ายค่าเสียหายให้รัฐ ที่ทำให้การใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต้องล่าช้าออกไป ร้อยละ 1.99 ระบุว่า เป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ ร้อยละ 2.39 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นายชวน หลีกภัย ควรร่วมรับผิดชอบ ด้วยการลาออกจากตำแหน่งประธานรัฐสภาไทย ขณะที่บางส่วนระบุว่า คณะรัฐบาลควรร่วมรับผิดชอบด้วยการยุบสภา และร้อยละ 10.13 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ .-สำนักข่าวไทย