นนทบุรี 27 ม.ค. – พาณิชย์ติดตามสถานการณ์ไวรัสโคโรนาระบาดจีนอย่างใกล้ชิด คาดกระทบระยะสั้น แต่ไม่กระทบการส่งออกรวมไปจีนในปี 2563
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศจีนอย่างใกล้ชิด สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ทั่วโลกมีความกังวลว่าในระยะสั้นจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและโลก แต่รัฐบาลจีนมีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว เป็นรูปธรรม และมีความชัดเจนที่ต้องการคุมสถานการณ์ให้ได้รวดเร็วมากที่สุด ประกอบกับจีนมีประสบการณ์ในการรับมือกับการแพร่ระบาดจากไวรัสซาร์ส ที่เกิดขึ้นในปี 2545 ปัจจัยเหล่านี้จะสนับสนุนให้รัฐบาลจีนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และคาดว่ารัฐบาลจีนจะมีการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามมาหลังจากนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากได้รับปัจจัยบวกจากการลงนามข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase-1 Deal) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563
สำหรับมณฑลหูเป่ยมีประชากรจำนวน 60 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันที่ 7 ของจีน สัดส่วน GDP ประมาณร้อยละ 4.3 โดย 3 มณฑลที่มีเศรษฐกิจใหญ่สุดของจีน ได้แก่ กวางตุ้ง (ร้อยละ 10.7) เจียงซู (ร้อยละ 10.25) และซานตง (ร้อยละ 7.3) ตามลำดับ
ขณะที่การส่งออกของไทยไปมณฑลหูเป่ยยังมีมูลค่าค่อนข้างน้อย ต่ำกว่าร้อยละ 1.0 ของการส่งออกทั้งหมดไปจีน โดย 3 เมืองส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ กวางตุ้ง (ร้อยละ 28.0) เซี่ยงไฮ้ (ร้อยละ 26.0) และซานตง (ร้อยละ 14.0) ตามลำดับ ด้านการส่งออกจากไทยไปจีนในปี 2562 มีมูลค่า 29,172 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงร้อยละ 3.78 เนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้า อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 สนค. คาดว่าการส่งออกไปจีนจะกลับมาขยายตัว หลังจากการส่งออกครึ่งปีหลังมีสัญณาญฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม 2562 ที่การส่งออกไปจีนขยายตัวร้อยละ 7.3 สูงสุดในรอบ 18 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่จะขับเคลื่อนการส่งออกไปจีนในปี 2563 เช่น ผลไม้สดแช่แข็ง และผลไม้แห้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องสำอาง รถยนต์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น
ทั้งนี้ ด้านการค้ากับจีนยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ โดยจีนเป็นตลาดหลักสำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ผลไม้สดแช่แข็งและแห้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์และมาตรการของจีนรวมทั้งประเทศในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันและบรรเทาไม่ให้สถานการณ์ส่งผลกระทบเสียหายต่อการส่งออกไทย และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากข้อมูลของไวรัสโคโรนายังมีจำกัด แต่คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในระยะสั้น และไม่กระทบต่อการส่งออกไปจีนอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับในปี 2563 กระทรวงพาณิชย์ได้วางแผนในการทำตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง โดยจะเข้าร่วมงานแสดงสินค้า SMEs นานาชาติ (China International SME Fair: CISMEF) ในเมืองกว่างโจว (มิถุนายน 2563) และงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo) ในเมืองหนานหนิง (กันยายน 2563) ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลให้การส่งออกไปจีนชะลอตัว และจะเร่งกระตุ้นการส่งออกสินค้าศักยภาพของไทยที่ขยายตัวสูงในตลาดจีน โดยเน้นทั้งเมืองใหญ่และการเจาะตลาดลึกในรายมณฑลเป็นต้น . – สำนักข่าวไทย