กรุงเทพฯ 27 ม.ค. – กระทรวงคมนาคม สั่ง สนข. ทำแผนพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ เน้นกระจาย ความเจริญทั่วถึง ด้าน สนข. จ่อคลอด TIA ศึกษาโครงการขนาดใหญ่ หวังล้อมคอกปัญหาจราจร คาดเสนอ คจร. ภายใน 3 – 6 เดือน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ว่า สนข. ถือเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญ เปรียบเสมือน “สมอง” ในการวางแผนและศึกษาโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม ในการแก้ไขปัญหาโลจิสติกส์ของประเทศ ครอบคลุมใน 4 มิติ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ จึงมอบหมายให้ สนข. มุ่งเน้นทำความเข้าใจในสิ่งที่ดำเนินการกับภาคส่วนต่างๆ อาทิ ประชาชน เอกชน และต่างประเทศ พร้อมทั้งการวางแผนคาดการณ์ในอนาคต ให้สอดคล้องกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดด กำหนดค่าตัวชี้วัด (KPI) ให้ชัดเจน อีกทั้งยังจะต้องอธิบายผลกระทบและผลตอบแทนว่าประชาชนจะได้อะไรบ้างอย่างเป็นรูปธรรม เน้นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะการนำโดรนมาบริหารจัดการจราจร และประสานความร่วมมือกับกองทัพอากาศ (ทอ.) เพื่อนำอากาศยานไร้คนขับ (UAV) มาใช้
ขณะเดียวกัน สนข. จะต้องมีการวางแผนการพัฒนาต่างๆ ให้กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ไม่กระจุกตัวแค่ในเมืองเท่านั้น เป็นไปตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงจะต้องบูรณาการกับกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนให้ประชาชนได้ประโยชน์จากพื้นที่ เช่น ที่อยู่อาศัย การศึกษา โรงพยาบาล เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการได้รับค่าเวนคืนเท่านั้น นอกจากนี้ ให้พิจารณาการใช้พื้นที่ขึ้นแนวสูง นอกเหนือจากแนวราบ ตามต้นแบบในต่างประเทศ ที่จะสามารถช่วยประหยัดพื้นที่ในการดำเนินการ
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า สนข. ได้เสนอการศึกษาจัดทำมาตรฐานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านการจราจร (TIA) มาใช้กับโครงการขนาดใหญ่ ทั้งของกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานอื่นๆ จากเดิม TIA จะเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาของการรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่แล้ว โดยการศึกษา TIA นั้น เพื่อให้การดำเนินการโครงการต่างๆ ไม่สร้างปัญหาการจราจรในอนาคต ซึ่งการศึกษา TIA จะต้องมีการกำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจน พร้อมทั้งมีข้อมูลทางวิชาการ และตัวแบบมาประกอบการดำเนินการ โดยยืนยันว่า TIA จะไม่ทำให้โครงการล่าช้า แต่อาจจะทำให้เร็วขึ้นกว่าเดิมด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณา TIA ภายใน 3-6 เดือน ก่อนที่จะสรุปแนวทาง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป
ด้านนายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า สนข. ได้ศึกษาเรื่องดังกล่าวมา 1 ปีกว่าแล้ว สำหรับแนวทางของ TIA นั้น ไม่ใช่เป็นการห้ามสร้าง หรือสร้างเงื่อนไขเพิ่มขึ้น แต่จะเป็นการช่วยกันพิจารณาการดำเนินการ เนื่องจากในปัจจุบัน กระทรวงคมนาคมมีนโยบายชัดเจนที่ต้องการให้ประชาชนใช้รถยนต์ส่วนบุคคลให้น้อยลง และหันมาใช้การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น ด้วยการสร้างทางเดินลอยฟ้า (สกายวอร์ก) เพิ่มเติม เพื่อเชื่อมอาคาร และลดการใช้รถในการเข้าออกอาคาร
นายชยธรรม์ กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมา สนข. ได้ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้มาจัดระเบียบ วิธีการที่จะให้องค์ความรู้ TIA ผ่านโครงการและหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับเรื่องจัดทำ EIA หากกฎหมาย EIA ครอบคลุมไม่ถึงอาจต้องพิจารณา TIA ด้วย โดยหลังจากนี้จะต้องรอการพิจารณาของ คจร. ก่อนที่จะทราบถึงทิศทางและนโยบายดำเนินการการ ทั้งนี้ การจัดทำ TIA นั้น จะไม่ซ้ำซ้อนกับ EIA เพราะ TIA เป็นการปิดช่องว่าง เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันมีหลายๆ โครงการที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่ศึกษาเรื่องนี้ และไม่อยู่ในข้อกฎหมาย ทั้งนี้เมื่อก่อน TIA เป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ อยู่ใน EIA ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญรับผิดชอบอยู่ ขณะเดียวกันจะมี สนข. เป็นหน่วยงานที่คอยแนะนำให้ โดยโครงการคมนาคมจะต้องผ่านกระบวนการ TIA นี้ด้วย ซึ่งหลายๆ โครงการมีการทำงานอยู่แล้ว แต่ทำให้ชัดเจนและเป็นระเบียบมากขึ้น เพื่อให้ความสำคัญของปัญหาการจราจร นอกจากนี้ การจัดทำ TIA ต้องไม่เป็นการสร้างภาระเงื่อนไขในเรื่องเวลาและความไม่ชัดเจนในระเบียบดำเนินงาน
รายงานข่าวจาก สนข. ระบุว่า สำหรับผลกระทบโครงการและระดับของการศึกษา TIA จะต้องพิจารณาตามปริมาณเกิดการเดินทางสูงสุดต่อชั่วโมง (ชม.) แบ่งเป็น ขนาดเล็กต่ำกว่า 50 คันต่อ ชม. ไม่ต้องทำ TIA, ขนาดปานกลาง 50-300 คันต่อ ชม. ถ้าตั้งอยู่เทศบาลนครต้องรายงานฉบับย่อ และ ขนาดสูง มากกว่า 300 คันต่อ ชม. ถ้าตั้งอยู่มหานครต้องทำฉบับเต็ม นอกจากนี้จะเสนอถ้าสร้างห้างสรรพสินค้าต้องสร้างสกายวอล์ค เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้า ป้ายรถเมล์ และเรือด้วย เพื่อเดินทางได้สะดวก และแบ่งเบาภาระทางเข้าออกการจราจรบริเวณหน้าห้างฯ ตลอดจนจุดทางเข้าออกสถานที่ต้องอยู่ตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่กีดขวางการจราจร จากเดิมจะตั้งอยู่ด้านหน้าสถานที่ อาจจะเข้ามาตั้งข้างในสถานที่เพื่อลดจำนวนรถติดสะสมหน้าสถานที่ด้วย . – สำนักข่าวไทย