กรุงเทพฯ 23 ม.ค. – อีอีซีเดินแผนระยะสั้นรับมือภัยแล้ง มั่นใจพื้นที่อีอีซี ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการไม่ขาดแคลนน้ำ พร้อมพัฒนาพลังงานสะอาด
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรววงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 1/2563 โดยที่ประชุมรับทราบและพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่ แผนบริหารจัดการน้ำอีอีซี แก้ระยะสั้นและวางแผนระยะยาวให้ยั่งยืน ซึ่งที่ประชุมรับทราบตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับอีอีซี ปี 2563 – 2580 ต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2562 วันที่ 20 ธันวาคม 2562 ซึ่ง กนช. มีมติเห็นชอบและจะได้เสนอต่อ ครม.ต่อไป
ทั้งนี้ มาตรการระยะสั้น เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2563 การประชุมร่วมกันระหว่าง สทนช. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สรุปสถานการณ์น้ำจังหวัดระยองและฉะเชิงเทรามีใช้เพียงพอ ส่วนจังหวัดชลบุรีมีความต้องการน้ำเพิ่มเล็กน้อย ประมาณ 5 – 6 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังและทำงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำ โดยเตรียมโครงการเพิ่มเติมให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดทำแผนใช้น้ำลดลงร้อยละ 10 ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2563 วางมาตรการเพิ่มปริมาณน้ำ หากฝนตกล่าช้าจากปกติเดือนมิถุนายน สทนช.ลดความเสี่ยง 3 โครงการ คือ โครงการสูบน้ำกลับคลองสะพานมายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 20 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTWATER ประสานกับกรมชลประทานเร่งดำเนินการโครงการสูบน้ำคลองหลวง ณ จุดพานทองเข้ากับท่อส่งน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต – บางพระ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 70 ล้านลูกบาศก์เมตร และโครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำประแกด (ลุ่มน้ำวังโตนด) จังหวัดจันทบุรี มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 70 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยต้องเจรจาค่าน้ำกับคณะกรรมการลุ่มน้ำคลองวังโตนด ซึ่งดำเนินการเสร็จทั้ง 3 โครงการ จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 160 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนการบริหารจัดการน้ำระยะยาวให้เพียงพออย่างดีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ทาง สทนช.ได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำปี 2563 – 2580 ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับอีอีซี ด้านการพัฒนาและจัดการน้ำต้นทุน วงเงิน 52,797 ล้านบาท ประกอบด้วย แผนการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน 38 โครงการ วงเงิน 50,691.10 ล้านบาท เช่น สร้างอ่างเก็บน้ำ คลองวังโตนด อ่างเก็บน้ำ คลองโพล้ และพัฒนาระบบสูบกลับคลองสะพาน – อ่างเก็บน้ำประแสร์ เป็นต้น แผนการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ 9 โครงการ วงเงิน 1,927.15 ล้านบาท เช่น แผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย การประปาส่วนภูมิภาค สาขาต่าง ๆ ปรับระบบการเพาะปลูก เป็นต้น มาตรการอื่น ๆ การศึกษาจัดทำฐานข้อมูลพัฒนาน้ำบาดาล 3 โครงการ วงเงิน 178.99 ล้านบาท ด้านการผลิตน้ำจืดจากทะเล เตรียมพิจารณาการลงทุนในอนาคต
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนในพื้นที่อีอีซี คือ จะมีความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ มีน้ำต้นทุนเพียงพอต่อความต้องการทุกภาคส่วนจนถึงปี 2580 สามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ที่อยู่อาศัย พื้นที่เศรษฐกิจแหล่งท่องเที่ยว และสถานประกอบการต่าง ๆ มีน้ำคุณภาพดีที่ส่งผลดีต่อสุขภาพสุขภาพประชาชน และการเติบโตทางเศรษฐกิจด้านการผลิตและการบริหาร
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอีอีซียังพิจารณาโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในเขตอีอีซี โดยเห็นชอบหลักการตามที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นำเสนอ โดยมีแนวทางศึกษาพัฒนาลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่น ๆ และระบบกักเก็บพลังงานในพื้นที่อีอีซี และส่วนขยายให้เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรลุเป้าหมายสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อพลังงานแสงอาทิตย์ ผลิตไฟฟ้าเป็น 70 : 30 เร่งรัดการลงทุนร่วมกับภาคเอกชนให้มีการผสมผสานระหว่างการเกษตรและการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ จำหน่ายในพื้นที่อีอีซี สนับสนุนองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ออกแบบระบบ วางแผน สร้างกลไกคาร์บอนเครดิต สู่ระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบบซื้อขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจระหว่างผู้ประกอบการในพื้นที่มุ่งสู่การเป็น Zero Carbon City และพื้นที่สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ศึกษาความเหมาะสม และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน ร่วมกับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยรักษาเสถียรภาพ และบริหารความต้องการไฟฟ้าสูงสุดช่วงเวลากลางคืน.-สำนักข่าวไทย